วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2563

พระสรัสวดีในญี่ปุ่น: เบ็นไซเต็ง ( Benzaiten ) หรือ เบนเทน


โดย เอ็ม รุทรกุล 

(เผยแพร่แล้วในเอกสารประกอบงานเกษียณอายุข้าราชการอาจารย์ที่ศิลปากร)

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เดิม “สรัสวดี” เป็นชื่อของแม่น้ำสายเก่าแก่แห่งหนึ่งของอินเดีย ที่ไหลผ่าน พรหมาวรตต (Brahmāvartta)ที่อาศัยแห่งแรกๆของชาวอารยัน แต่ในปัจจุบันแม่น้ำสายนี้แห้งไปแล้ว แต่จากหลักฐานในฤคเวท เชื่อว่าสรัสวดีมีความสำคัญต่อชาวอารยันและได้รับการบูชาในสมัยนั้นเช่นเดียวกับคงคาของชาวอินเดียปัจจุบัน[1]

ในสมัยพระเวท “สรัสวดี” ได้เกี่ยวกับน้ำ,ความงาม และความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเกิดจากพลังแห่งน้ำของเธอ โดยที่เธอยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงว่าเป็น “เทพีแห่งการพูด” แต่ฐานะนี้ปรากฏชัดในคัมภีร์ [Brahmanas] พรหมนส [Mahābārata] มหาภารต และ มัสยาปุราณะ ที่จัดให้เธอเป็นชายาของพระพรหม ซึ่งลัทธิ [Vaishmavas] ไวษณพนิกาย แห่งเบงกอล มีนิทานที่มีชื่อเสียงเล่าว่า “เธอคือ ชายาของพระวิษณุ เช่นเดียวกับ ลักษมี และคงคา เนื่องจากพวกเธอชอบทะเลาะกัน พระวิษณุจึง ยก คงคาให้พระศิวะ และยกเธอให้กับพระพรหม[2]

ในอินเดียพระสรัสวดีมีความสำคัญคือ เป็นเทพีแห่งการพูด,การเรียนรู้,ศิลปะ,วิทยาศาสตร์ และเชื่อกันว่าเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรเทวนาครีที่ใช้เขียนภาษาสันสกฤตจนมาถึงทุกวันนี้

พระสรัสวดี-เบนเทนในญี่ปุ่น

แล้วทำไมจึงกลายเป็น “เบนเทน”s- สันนิษฐานว่า เนื่องจากความเป็น เทพีแห่งความรู้นี้ พระสรัสวดีจึงได้เข้ามาสถิตในพุทธศาสนาลัทธิตันตระคือ เทพีแห่งความรู้ผู้เป็นนางตาราของพระโพธิสัตว์มัญชูศรี พระโพธิสัตว์แห่งปัญญาก่อน โดยปรากฏว่าในสาธนมาลากล่าวว่า “ผู้ต้องการความฉลาดรอบรู้ต้องบูชาพระสรัสวดี”[3] และในสุวรรณประภาสสูตร(-สรสวตีเทวีปริวรตะ) [4] ยังได้กล่าวถึงพระสรัสวดีว่าเป็นเทพผู้หนึ่งที่มาอ่อนน้อมต่อพระพุทธเจ้า ว่า

"อถ ขลุ สรสฺวตี มหาเทวฺเยกาสํ จีวรํ ปฺราวฤตฺย ทกฺษิณํ

ชานุมณฺฑลํ ปฤถิวฺยำ ปฺรติษฺฐาปฺย เยน ภควาสฺเตนาญฺชลึ

ปฺรณมฺย ภควนฺตเมตทโวจต.....ฯ

“แปล- ครั้งนั้นได้ยินว่าพระสรัสวดี มหาเทวียืนขึ้นที่พื้นดิน

ครองผ้าไว้ที่ไหล่ขวา ประนมมือขึ้นกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า...ฯ"



ซึ่งในสุวรรณประภาสนี้ยกย่องพระองค์ในฐานะของเทพีแห่งความรู้ ผู้มาเป็นพยานยืนยันความศักดิ์สิทธิ์บุญกุศลแห่งยอมรับ,เรียนรู้ และการเผยแพร่พระสัทธรรมอันแท้จริงแห่งคัมภีร์สุวรรณประภาสสูตร เช่น เดียวเทพฮินดูอื่นคือกับท้าวจตุรโลกบาล และพระลักษมี

การที่ พระสรัสวดี พระลักษมี จตุรโลกบาล และเทพต่างๆ ที่เข้ามาในพุทธศาสนานั้น ผู้เขียนคิดว่าส่วนหนึ่งคงจะเป็นเพราะอิทธิพลความเชื่อเรื่อง ทวยเทพทั้งหลายในศาสนาฮินดู และความเชื่อเรื่องธรรมบาลของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะฝ่ายมหายานในคัมภีร์ประเภท ไวปุลยสูตร (พระสูตรอันไพบูลย์)ทั้ง 9[5] ซึ่งนิยมพรรณนาเรื่องราวพิสดารของพระพุทธเจ้า และทวยเทพต่างๆที่มาอ่อนน้อมต่อพระพุทธศาสนา เช่นที่ปรากฏในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร[6] ได้กล่าวถึง อมนุษย์และเทพต่างๆในศาสนาฮินดู ว่ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมและได้ตั้งสัตย์ว่าจะช่วยรักษาพระธรรมและปกป้องผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งหลายครั้งมักจะพูดถึงพร้อมกันเป็นเหมือนสำนวนว่า

"-พหุเทวนาคยกฺษคนฺธวฺราสุรครุฑกินฺนรมโหรคมนุษฺยามนุษฺยาน....ฯ

(เทว,นาค,ยักษ์,คนธรรพ์,อสุร,ครุฑ,กินนร,มโหรค,มนุษย์,อมนุษย์...ฯ)"



ในเวลาต่อมา เทพและอมนุษย์เหล่านี้เมื่อเข้ามาสู่พุทธศาสนา ก็ได้ถูกจัดระบบทางความคิดใหม่โดยพุทธศาสนาว่าเป็นธรรมบาล 8 หมู่ ซึ่งในจีนนิยมเฉพาะเทวบาล ซึ่งถือว่าเป็นธรรมบาลที่สำคัญ ที่สุดในกลุ่มที่เรียกว่า “กาลั้ง” 24[7] ตน นิยมสร้างไว้ตามวัดจีนทั่วไป

ผู้เขียนจึงเชื่อว่าธรรมบาลเหล่านี้น่าจะติดตามคัมภีร์ต่างๆจากอินเดีย เข้าสู่จีนก่อนจนถึงสมัยจักรพรรดิคิมเมอิ (Kimmei) ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 (พ.ศ.1083-1114)พุทธศาสนาก็เริ่มเข้าสู่ญี่ปุ่นผ่านเกาหลี โดยที่พุทธศาสนาในสมัยนั้นยังไม่มีอิทธิพลอะไรต่อชาวญี่ปุ่นมากนัก จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่12 (พ.ศ.1135-1171)สมัยพระจักรพรรดินีซูอิโกะ มีอัครเสนาบดีคือ เจ้าชายโชโตกุไทชิ ผู้ได้รับสมญาว่าอโศกแห่งญี่ปุ่น ได้เป็นผู้สนับสนุนและทำนุบำรุงพุทธศาสนาจนพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในญี่ปุ่น[8] จนถึงสมัยนาราพุทธศาสนาได้รับอิทธิพลโดยตรงจากพุทธศาสนาสมัยราชวงถังจากจีนทำให้ระยะเวลาต่อมาญี่ปุ่นจึงเปิดรับอารยธรรมพุทธศาสนาผ่านจีนมาโดยตลอด พร้อมกับความเชื่อเรื่อง ธรรมบาล 8 หมู่ที่ญี่ปุ่น

ซึ่งรศ.ดร.ผาสุก อินทราวุทธ บอกว่าเทพพวกนี้ในชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “ฮาชิบึซึ”(Hachibushu)[9]คือ1.เทพ ญี่ปุ่นเรียกว่า “เตน” [Ten],2.นาค ญี่ปุ่นเรียกว่า “รยูโอ” [Ryuo],3.ยักษ์ ญี่ปุ่นเรียกว่า “ยะชะ” [Yasha],4.คนธรรพ์ ญี่ปุ่นเรียกว่า “เคนทัตสึปะ” [Kendatsub],5.อสูร ญี่ปุ่นเรียกว่า “อชูระ” [Ashura],6.ครุฑ ญี่ปุ่นเรียกว่า “ครุระ” [Karura],7.มโหรัค ญี่ปุ่นเรียกว่า “มโคระกะ” [Magoraka],8.กินนร ญี่ปุ่นเรียกว่า “กิมนะระ” [Kimnara]

ฉะนั้นพระสรัสวดี ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “เบนเทน” หรือ “เบนไซ เตน” นั้นจึงน่าจะจัดอยู่ในธรรมบาลในกลุ่มแรกที่เรียกว่า “เตน” (Ten) ซึ่งอาจจะเป็นคำทับศัพท์คำว่า “เทพ” หรือ “เทว”ก็เป็นได้ ส่วนในจีนก็เรียก “เทพ” ทับศัพท์ว่า “ที พอ” หรือใช้ความว่า “เทียน” (T’ ien) ซึ่งหมายถึงสวรรค์ต่อท้าย และเรียกพระสรัสวดี หรือ เบนไซ เตน นี้ว่า เมียว ยิน ฟอมุ (Miao-yin-fo-mu) หรือ ทาเพียน ไถ เทียนนี(Ta- pien- ts’ ai- t’ ien- nü) คือเฉพาะคำว่า “เทียนนี” นี้ น่าจะมาจาก “เทียน” แปลว่าสวรรค์ + “นี” แปลว่า หญิง “เตน” (Ten)นี้จึงอาจมาจากคำว่า “เทียน” (T’ ien)ก็เป็นได้เช่นกัน

ส่วนคำว่า เบนไซ มีคำเต็มว่า เบนไซอิ –เคยสอบถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นคือคุณยามาโมโต คาซุฮีโร คุณยามาโมโต กล่าวว่า เบนไซอิ มีความหมายเดิมว่า “ผู้ชำนาญทางคำพูด” และที่ญี่ปุ่น เทพของญี่ปุ่นเองก็เรียกอย่างหนึ่ง เทพที่มาจาก คริสตศาสนาก็เรียกอย่างหนึ่ง และเทพฮินดูนี้ก็เรียกอย่างหนึ่ง เฉพาะเทพในญี่ปุ่นนั้น-พระเจ้าของญี่ปุ่นเรียกว่า กามิ (Kami) ซึ่งร่วมถึงวิญญาณหรือพวกเทพต่างๆในท้องถิ่น ,พระภูมิเจ้าที่เรียกว่า โตชิ โนกามิ (Tochi-no-kami),เทพรักษ์เรียกว่า ซุโคจิน (Shugojin),เทวดาที่อยู่ในโลกเรียกว่า นินเคน (Ningen) โดยในญี่ปุ่นมีเทพเจ้าที่สำคัญคือ -อามาเทระสุ (Amaterasu)– เทพีแห่งดวงอาทิตย์,สุสะโน(Susano)-เทพแห่งพายุ ซึ่งถือว่าเป็นประถมบรรพบุรุษของชาวญี่ปุ่นเป็นต้น

ทั้งนี้ เทพพื้นเมืองของญี่ปุ่นแต่เดิมมีตำนานเรื่องเล่าอยู่ในเทพปกรณัม ของพวก ชินโต ซึ่งไม่เกี่ยวของอย่างใดกับ “เตน” เทพในพุทธศาสนาของญี่ปุ่นเลย จนประมาณพุทธศตวรรษที่13-22(พ.ศ.1343-2243)กล่าวกันว่าภิกษุในพุทธศาสนาบางรูป ชี้แจงว่าเทพเจ้าของศาสนาชินโต คือปางหนึ่งของพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนา จนต่อมาทำให้เกิดนิกายชินโตที่ผสมผสานคำสอนในพุทธศาสนาไว้เช่น ชินคอน ชินโต,อิเส ชินโต,โยชิดะ ชินโต และพุกโก ชินโต เป็นต้น

พุทธศาสนาในญี่ปุ่น-พระสรัสวดี

โดยส่วนตัวของผู้เขียน ผู้เขียนมีความเชื่อว่า คัมภีร์สุวรรณประภาสสูตร[10],สาธนมาลา หรือคัมภีร์ของพวกตันตระอื่นๆนั้น เป็นคัมภีร์ที่แสดงภาพของพระสรัสวดีหรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “เบนเทน”ในยุคแรกๆ โดยเฉพาะสุวรรณประภาสสูตรนั้น มีความสำคัญมากในช่วงที่พุทธศาสนารุ่งเรื่องมากในยุคแรกของญี่ปุ่น คือประมาณ พ.ศ. 1215 พระจักรพรรดิ เทนมู เทนโน ทรงสร้างวัด ชิเตนโต (หรือท้าวเทวราชทั้ง4)ขึ้นเนื่องจากอิทธิความเชื่อเรื่อง จตุรโลกบาลทั้ง 4 ที่จะคอยคุมครองประชาชนและกษัตริย์ที่นับถือคำสอนแห่งคัมภีร์สุวรรณประภาสูตร[11] และต่อมาในยุคสมัยนารา (พ.ศ.1253-1337) คือ ประมาณพ.ศ.1284 พระจักรพรรดิโชมุ ได้ส่งสำเนาแจกจายสุวรรณประภาสสูตรไปทุกๆจังหวัด และให้แต่ละจังหวัดสร้างเจดีย์เจ็ดชั้น สร้างวัดสำหรับคุ้มครอง หนึ่งวัด สร้างวัดนางชี (ภิกษุณี)หนึ่งวัด[12] ซึ่งกล่าวกันว่าในรัฐสมัยของพระองค์ในช่วง พ.ศ.1244-1299 ทรงสั่งให้ วัดทั้งสองใน 66จังหวัด คือวัดหนึ่งสำรับพระภิกษุนั้น อ่านและท่องสุวรรณประภาส เพื่อความสงบของประเทศและประชาชน ส่วนวัดหนึ่งสำหรับนางชีนั้นให้อ่านและท่องสัทธรรมปุณฑริกสูตรและให้อธิษฐานเพื่อการชำระบาปในอดีตและเพื่อความสุข[13]
เบนเทนในฐานะเทพีแห่งทะเล

ส่วนความนิยมบูชาพระสรัสวดีในฐานะเบนเทนนั้น ปรากฏให้เห็นชัดในช่วงศตวรรษที่ 12 (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17)เธอได้ถูกให้ความสำคัญว่าเป็นเทพีแห่งทะเล มีท้องทะเลเป็นบ้านและเป็นลูกสาวของพญามังกรที่ถูกนำไปผนวกกับความเชื่อเรื่องพญานาค เธอจึงมีสัญลักษณ์เป็นงูขาว มีใช่หงส์ และถูกนำไปเกี่ยวของกับมังกรผู้คุ้มกัน กับบีวา(พิณญี่ปุ่น) และเรื่องราวของซามูไรผู้หนึ่งที่สร้างวีระกรรมในการฆ่าตะขาบยักษ์ [14] ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ก็มีเรื่องเล่าว่าในหมู่บ้านใกล้ เอโนซิมา(Enoshima) และ คามากุระ(Kamakura)ที่มีหาดท้ายที่มีน้ำขึ้นลงทอดยาวไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง มีมังกรที่ชอบกินเด็กในหมู่บ้าน ต่อมาเอโนซิมา(Enoshima)เกิดแผ่นดินไหวในช่วง 600 ปี ในขณะนั้น เบนเทน ปรากฏตนเหนือฟากฟ้านั้นและเธอก็ลงมาแต่งงานกับพญามังกรซึ่งอาศัยอยู่ที่เกาะนั้น หลังจากที่เขาอ้อนวอนอย่างซื่อสัตย์ และหลังจากนั้นพญามังกรก็ไม่ต้องการกินเด็กอีกเลย[15]

ฉะนั้นถ้ำบน เอโนซิมา(Enoshima) จึงได้ถูกให้เป็นที่อยู่ของพญามังกร หรือสามีงู ของเบนเทน ซึ่งมีเกร็ดนิทานเล่าว่า มันเป็นอุโมงค์ใต้ดินที่เชื่อมต่อไปถึงโพร่งใต้ฐานของภูเขาไฟฟูจีทีเดียว และด้วยเหตุนี้เอง หรือความที่เบนเทนเป็นเทพีแห่งทะเล ศาลเจ้าของเธอโดยมากจึงนิยมสร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นเกาะ[16]
เบนเทนหนึ่งในเทพเจ้าแห่งโชคทั้ง 7

ในสมัยสาธารณรัฐที่อำนาจการปกครองของพระจักรพรรดิถูกแบ่งแยกโดยเจ้าเมืองต่างๆที่เรียกว่า “โชกุน” ซึ่งมีอำนาจมากในดินแดนของตนเอง(ประมาณพุทธศตวรรษที่17-24) มีเรื่องเล่าว่า พระรูปหนึ่ง นามว่า พระเทนไก ได้เป็นผู้คัดเลือกเทพทั้ง 7[17] คือ 1.จูโรอิน(เทพอายุยืนจีน น่าจะเป็นตัวแทนความเชื่อเรื่องเซียนในลัทธิเต๋าและขงจือที่ญี่ปุ่นรับมาเป็นหลักปกครอง จึงน่าเป็นตัวแทนของชนชั้นขุนนาง ),2.โฮเตอิ(พระสังขจายหรือพระศรีอารย์จีน มีลักษณะเป็นตัวแทนของพวกนักบวช),3.ฟูกูโรกุจู(มีลักษณะคล้ายพวกเซียนเป็นตัวแทนของโหรและนักปราชญ์),4.อีบิสุ (มีลักษณะเป็นตัวแทนของชาวประมงและกรรมกร),5.ไดโกกุ(มีลักษณะเป็นตัวแทนของชาวนา),6.พิสมอน(พระกุเวรจีน มีลักษณะเป็นตัวแทนของซามูไร-นักรบ),และ 7.เบนเทน (พระสรัสวดี มีลักษณะเป็นตัวแทนคุณสมบัติของสัตรี) ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งความดีงามทั้ง 7 ประการให้กับ โชกุนโต กุกาวา อิเยมิตสุ (ประมาณ2085-2195)[18] ซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมเขียนภาพเทพเจ้าทั้งเจ็ดนี้รวมอยู่ในเรือทรัพย์สมบัติที่เรียกว่า “ตาการา บูเน”ซึ่งในตอนกลางคืนของวันที่ 2 มกราคม เขามักจะเอารูปเรือที่มีเทพเจ้าทั้งเจ็ดนี้ใส่ไว้ใต้หมอนเพื่อให้มีโชคดี[19]

ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21มีเรื่องราวรักโรแมนติกเกี่ยวกับนักศึกษาหนุ่ม ที่โตเกียวชื่อว่า ไบสุ(Baishu)ได้เชื่อว่าเบนเทน ที่เขาสักการะที่ศาลเจ้าในเขตวัด อะมะเดระ(Amadera) เป็นผู้ชักนำชีวิตรักของเขา แสดงว่า เบนเทนได้ถูกชักนำให้เกี่ยวข้องกับความรักและโชคชะตาประดุจกามเทพ [20]

เนื่องจากงูที่อาจจะวาดว่าขอดอยู่ข้างๆเบนเทนนั้น ชาวญี่ปุ่นถือว่าเป็นเครื่องหมายของความมีโชค และเมื่อคนที่เกิดปีมะเส็ง มีโชคได้เงินได้ทองพวกเขาจะไปที่ศาลที่มีรูปเบนเทน เพราะเชื่อว่าเธอจะบันดาลให้เขามีโชคเพิ่มมากขึ้น และในวันแรกของปีมะเส็ง จะมีคนไปที่ศาลของเบนเทนกันอย่างคับครั่ง เพราะถือว่าเป็นวันดีจะทำให้มีโชคสองชั้น[21]

แต่ก็เนื่องจากงูเป็นสัญลักษณ์ของความริษยาด้วย เบนเทนจึงถูกมองว่าเป็นเทพแห่งความริษยา จนมีทำเนียมว่า คู่รักที่มาที่ศาลของ เบนเทน เพื่อจะขอพรจะต้องแยกกันมา เพราะหากมาเป็นคู่ เบนเทนจะอิจฉาและบันดาลให้ชีวิตรักของทั้งสองมีปัญหาในภายหลัง และในสมัยโบราณนักเล่นดนตรีประเภทบีวา(พิณน้ำเต้าญี่ปุ่น)ในราชสำนักจะไม่แต่งงานครองตัวเป็นโสดเพราะคิดว่า ถ้าพวกเขาแต่งงาน เจ้าแม่เบนเทนจะเกิดความอิจฉา และเอาความสามารถในการเล่นดนตรีคืนไป[22]

รูปของเบนเทน หรือเบนไซ เตนนั้น มี 2 ลักษณะในญี่ปุ่น [23]คือรูปที่มี 8 กรประทับในดอกบัวของลัทธิตันตระ[24] และรูปที่มี 2 กรถือบิวา(พิณน้ำเต้าญี่ปุ่น)ซึ่งนิยมแพร่หลายกว่า โดยเป็นที่นิยมบูชาในฐานะเทพีแห่งโชคของคนญี่ปุ่นทั่วไป และในฐานะเทพีแห่งดนตรีสำหรับพวกนักดนตรี และพวกเกอิชา(หญิงบริการ)ที่ต้องอาศัยศิลปะการแสดงเลี้ยงชีพ

ผู้เขียนคิดว่านิยายพื้นบ้าน,เรื่องเล่า,และตำนานเกี่ยวกับเบนเทนนี้ ถูกสร้างขึ้นภายหลังเพื่อโน้มน้าวให้คนในท้องถิ่นเชื่อว่า เบนเทน ได้ใกล้ชิดและสนิทสนมกับชาวญี่ปุ่นมาช้านาน จนในที่สุดก็กลายเป็นพระสรัสวดีของชาวญี่ปุ่นที่เรียกว่า “เบนเทน”ไปในที่สุด ซึ่งมองโดยรวมแล้วความเชื่อเกี่ยวกับเบนเทนก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากความเชื่อเรื่องพระสรัสวดีมากนัก เพราะอย่างไรก็ดีเบนเทน ก็ยังเป็นเทพีที่คงคุณลักษณ์ของอิสตรีเช่นเดียวกับศักติของอินเดีย ที่เข้าใจยาก คือเมื่อเธอพอใจเธอก็จะบรรดาลและนำความสุขมาให้แต่ถ้าเธอไม่พอใจความเดือนร้อนยุ่งยากก็จะมาเยือน




เบนเทน หนึ่งในเทพแห่งโชคทั้ง 7


ที่มา http://www.marumura.com/tale/?id=2401





เบนเทน 8 กร

ที่มา http://www.buddhist-artwork.com/html/benzaiten-statues.html



เบนเทน กับบิวา
ที่มา http://reishi-design.jp/archives/507



[1] John dowson A Classical Dictionary of Hindu Mythology &Religion Geography,History,Literature, India,p.284


[2] Ibid.


[3] ผาสุก อินทราวุทธ,รศ.ดร. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน,ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,โรงพิมพ์สมัยอักษร,2543หน้า81


[4] S. Bagchi, Suvarnaprabhasasutra The Mithila institute,post-Graduate studies and research in Sanskrit Learning,Darbhanga.1967p.55


[5] คัมภีร์ ไวปุลยสูตรทั้ง 9 คือ 1.อัษฏสริกาปรัชญาปารมิตาสูตร 2.คัณฑวยูหสูตร 3.ทศภูมิกสูตร 4.สมาธิราชสูตร 5.ลังกาวตารสูตร 6.สัทธรรมปุณฑริกสูตร 7.ตถาคตวยูหสูตร 8.สุวรรณประภาษสูตร และ9.ลลิตวิสตระ


[6]P.L.Vaidya, Saddharmapundarikasuttra The Mithila institute,post-Graduate studies and research in Sanskrit Learning,Darbhanga.1967p.142


[7] เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, ลัทธิของเพื่อน,คลังวิทยา,กรุงเทพฯ.2514 หน้า 701-705


[8] ผาสุก อินทราวุทธ,รศ.ดร. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน,ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,โรงพิมพ์สมัยอักษร,2543หน้า208


[9] เรื่องเดียวกัน,หน้า220-221


[10] สุวรรณประภาสสูตร ยังรู้จักในนาม สุวรรณประภาสอุตตเมนทรราชา หรือ สุวรรณประภาโสตตสูตร


[11] จำนงค์ ทองประเสริฐ บ่อเกิดวัฒนธรรมประเพณีญี่ปุ่นเล่ม 1,ราชบัณฑิตยสถาน,2514หน้า212


[12] เรื่องเดียวกัน,หน้า209


[13] สุรพล เพชรศร สาระสำคัญแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร,กลุ่มศึกษาสัทธรรมปุณฑริกสูตรธรรมสารจำกัด,บริษัทเคล็ดไทย,2543 หน้า 9


[14] Juliet Piggott Japanese Mythology, The Hamlyn Group limited London.New York.Sydney.Toronto.1982p.134-136


[15] Ibid.


[16] Ibid.


[17] ส.พรายน้อย เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น,สำนักพิมพ์แพร่พิทยา,โรงพิมพ์แพร่พิทยา,กรุงเทพ 2517หน้า181-18และ Juliet Piggott Japaness Mythology, The Hamlyn Group limited London.New York.Sydney.Toronto. 1982p.55-60


[18] โชกุนโต กุกาวา อิเยมิตสุ เป็นผู้ก่อตั้งตระกูลโชกุน โตกุกาวา ที่สืบทอดตำแหน่ง ถึงโชกุนเคอิกิซึ่งเป็นโชกุนคนสุดท้ายที่ลาออกใน พ.ศ.2410 และอำนาจทั้งหมดก็กลับคืนไปสู่พระจักรพรรดิ คือพระจักรพรรดิเมยิ


[19] ส.พรายน้อย เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น,สำนักพิมพ์แพร่พิทยา,โรงพิมพ์แพร่พิทยา,กรุงเทพ 2517หน้า180


[20] Juliet Piggott Japanese Mythology, The Hamlyn Group limited London.New York.Sydney.Toronto.1982p.136-138


[21] ส.พรายน้อย เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น,สำนักพิมพ์แพร่พิทยา,โรงพิมพ์แพร่พิทยา,กรุงเทพ 2517หน้า144


[22] ส.พรายน้อย เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น,สำนักพิมพ์แพร่พิทยา,โรงพิมพ์แพร่พิทยา,กรุงเทพ 2517หน้า182


[23] Juliet Piggott Japanese Mythology, The Hamlyn Group limited London.New York.Sydney.Toronto.1982p.135-136


[24] ผาสุก อินทราวุธ,รศ. ดร. กล่าวว่าในรูปตันตระในธิเบต จะมีวรรณแดง มี 3 เศียร 6 กร ในญี่ปุ่นนั้นเทพีเบนเตนจัดเป็นภาคหนึ่งของพระสรัสวดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น