วันพุธที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เจ้าแม่กัณณะกี ผู้สาปเผาล้างเมืองมะดูไร

นางกัณณะกี (บางว่า กัณณะคี เพราะภาษาทมิฬ /ก/ /ข/ /ค/ ใช้ตัวเดียวกัน) ภรรยาหลวงของเศรษฐีโกวะลัน นอนป่วยอยู่เป็นปี เพราะสามีที่ตนรักมากทอดทิ้งไปอยู่กับภรรยาน้อยที่เป็นนางรำคือนางเมธาวี (บางตำนานว่าเป็นเทวทาสี) จนเมื่อสามีใช้ทรัพย์ที่มีทั้งหมด..หมด ก็สำนึกผิด คิดได้กลับมาหานางกัณณะกี

นางกัณณะกี ก็ดีใจจนหายป่วย และไม่โกรธสามีที่เคยทอดทิ้งตนแม้แต่น้อย ลุกขึ้นมาตอนรับหาข้าวปลาให้กิน จากนั้นนางได้นำกำไลเท้าของนางที่บรรจุเพชรพลอยซ่อนไว้ ซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของนางมอบให้สามีเอาไปขายเพื่อมาทำทุนการค้าใหม่เพื่อตั้งตัวอีกครั้ง ในขณะที่นางเฝ้ารอสามีด้วยความหวังที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยความสุขกับสามีอีกครั้ง

 โกวะลันสามีนางจึงเอากำไลเพียงข้างเดียวของนางก็เอาไปฝากขายให้กับช่างหลวงที่ตนรู้จัก ซึ่งได้รับกำไลของพระมเหสีมาซ่อมพอดี เนื่องจากกำไลเท้าของนางกัณณะกีภายนอกนั้นเหมือนของมเหสีของพระราชาทุกอย่าง ช่างหลวงจึงกล่าวหาว่า "โกวะลัน" ลักขโมยกำไลของพระมเหสี (เพื่อที่ช่างหลวงจะได้สามารถแอบเก็บกำไลของมเหสีไว้เอง) ทำให้โกวะลันถูกพระราชาสั่งให้นำตัวไปประหาร

เมื่อกัณณะกีรู้ข่าวก็รีบไปที่ลานประหารด้วยความตกใจ แต่ช้าไปแล้ว ก่อนตายโกวะลันขอให้นางกัณณะกีรีบตามตนไปอยู่ด้วยกันในโลกหน้า

ก่อนที่นางกัณณะกีจะตามไปจึงบุกเข้าวังไปเรียกร้องความเป็นธรรมกับพระราชา โดยถามว่าข้างในกำไลของมเหสีมีอะไร พระราชาบอกว่าเป็นไข่มุก แล้วก็เรียกร้องให้พระราชาหักกำไลทั้งสองของมเหสีออกดูพิสูจน์

ปรากฏว่ากำไลข้างหนึ่งของมเหสีหักออกมาเป็นไข่มุก อีกข้างหักออกมาเป็นเพชรพลอย และกัณณะกีก็หักกำไลของตนให้ดูว่าเป็นเพชรพลอยเหมือนกัน

ด้วยความเสียใจในความผิดของตนพระราชาแห่งราชวงศ์ปัณฑิยะที่บริสุทธิ์ยุติธรรม จึงหัวใจสลาย (หัวใจวาย) และสิ้นพระชนม์ลงในทันที เช่นเดียวกับมเหสีของพระองค์ที่รับไม่ได้กับการจากไปของพระสวามีสุดที่รักก็สิ้นพระชนม์ตามไปทันทีเช่นกัน

(ปล. กษัตริย์วงศ์นี้ในตำนานอินเดียใต้มีคุณธรรมสูงมาก แต่บางครั้งการติดสินความก็มีพลาดได้จากหลักฐานเท็จของคนพาล ทำให้บางพระองค์ยอมตัดมือของตนเองเพื่อรักษาสัตย์)

แต่นางกัณณะกียังไม่หายแค้นจึงสาปให้ไฟไหม้ทั้งเมืองโดยอธิษฐานขอให้คนชั่วร้ายตายลงในกองไฟให้หมด ให้เหลือรอดแต่คนดีเท่านั้น

............เมืองที่ไหม้นี้คือเมืองมะดูไรเก่าในรัฐทมิฬนาฑู ต่อมาหลังจากไฟไหม้ก็มีคนอพยพมาอยู่สร้างเมืองใหม่เรียกว่าเมืองมะดูไร (ใหม่) อีกเช่นกัน ในทางหลักฐานทางโบราณคดีอินเดียใต้เมืองมะดูไร สมัยโบราณเคยถูกไฟใหม่ครั้งใหญ่จริงเนื่องจากเป็นชุมชนที่มีคนอยู่หนาแน่นมาแต่ครั้งโบราณ ส่วนเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาเพื่อรองรับกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นก็ได้

แต่อย่างไรก็ดีศิลัปปะธิการัม เป็นวรรณคดีประเภทมหากาพย์แต่โบราณในยุคพุทธศาสนาของอินเดียใต้ และนางกัณณะกี ปัจจุบันได้รับการนับถือว่าเป็นเจ้าแม่ศักดิ์สิทธิ์ตนหนึ่ง และคำว่ากัณณะกีเป็นสแลงสมัยก่อนเรียกสตรีที่โมโหร้าย อารมณ์รุนแรง

เคยคิดจะแปลเรื่องนี้เป็นภาษาไทย แต่คงต้องรอให้บ้านเมืองสงบกว่านี้ เพราะเรื่องนี้แรงมาก

กลัวว่าคนบางคนจะตีความออกมาในแง่ลบ เพราะไม่รู้วัฒนธรรมทมิฬ

และเพราะกัณณะกี คือตัวแทนแห่งการต่อสู้ระหว่างสตรีสามัญชน กับชนชั้นสูง

(เลือกวรรณกรรมแปลเพื่อสังคมไม่ใช่ชื่อเสียง).....สรุปที่ใดมีรักที่นั้นมีทุกข์...Good night


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น