วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ความต่างระหว่างเทวทาสี กับโสเภณี

        การแสดงเต้นภารตนาฏยัมในสมัยโบราณมักแสดงโดย เทวทาสี สาวนักเต้นบูชาพระเจ้า ที่อาศัยอยู่ตามวัดศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในอินเดีย โดยที่ผู้ทำหน้าที่คุมจังหวะที่เรียกว่า นาฏฏุวนัร นั้นจะเป็นชาย ผู้เป็นเกจิอาจารย์ ด้านการดนตรีกรรณาติก ซึ่งมีวัฒนธรรมการสืบทอดจากพ่อสู่ลูกเป็นลำดับไป ซึ่งเอกลักษณ์และรูปแบบ ของสำนักดนตรีกรรณาติก นั้นบ้างตระกูลก็มีการรู้จักกันมาในนามของชื่อของสถานที่หมู่บ้าน ท้องถิ่นเดิม ที่บรรพบุรุษของเขาได้เคยอาศัย เช่น ปะนิสซึ่งแตกแขนงมากมายเป็น ตระกูลของนักดนตรีกรรณาติกต่างๆที่มีชื่อเสียงเช่น ปัณฑะนัลลุร ปะนิส, ตัณจาวุร ปะนิส, วาฬุวัร ปะนิส, กาญจี ปะนิส ฯลฯ
                                      (เทวทาสีสมัยก่อน และพราหมณ์นักดนตรีกัรนาฏิก)

๑) เทวทาสี ชายาแห่งพระเจ้า

    เดิมสมัยโบราณบทบาทของนางเทวทาสีคือ ผู้เต้นรำบูชาพระเจ้า และโดยมากนางเทวทาสีจะไม่แต่งงาน ชาวฮินดูสมัยก่อนจึงถือว่านางเป็นเสมือนชายาของพระเจ้า และให้ความเคารพนางดั่งสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน โดยมีเรื่องเล่าว่าโดยปกติสมัยก่อนประเพณีการให้มรดกของตระกูลจะให้บุตรชาย แต่ถ้าใครเป็นนางเทวทาสีก็สามารถได้รับมรดกของตระกูลด้วย (อาจจะเป็นสาเหตุเพื่อให้นางเทวทาสีที่ไม่แต่งงานอยู่รอดได้)

     แต่เนื่องจากนางเทวทาสีเป็นสตรีที่งาม ในวรรณคดีทมิฬจึงกล่าวถึงเรื่องราวความรักระหว่างนางเทวทาสีกับเจ้าชายอินเดียใต้เสมอ ซึ่งสุดท้ายนางเทวทาสีก็ได้ออกจากวัดมาแต่งงานกับเจ้าชาย กษัตริย์ เศรษฐี นาฏฺฎุวนัร (พราหมณ์นักดนตรี) หรือพราหมณ์ดูแลเทวสถานต่าง ๆ ซึ่งมีความสามารถเป็นผู้ที่จะอุปถัมภ์นางได้ แต่เนื่องจากการนับถือวรรณะในศาสนาฮินดู และการที่นางเทวทาสีที่เคยเป็นพรหมจรรย์มาแต่งงาน หรือกลายเป็นภรรยาของผู้มีอำนาจในสังคมยุคนั้น (ซึ่งคงไม่มีใครกล้าว่า)   แต่ถึงอย่างไรอดีตนางเทวทาสีเหล่านี้ก็ถูกมองในแง่ลบ ไม่ต่างไปจากหญิงงามเมือง ดังนั้นกฏหมายโบราณของทมิฬจึงห้ามบุตรของนางสืบทอดการเป็นกษัตริย์ และมรดก


(ซึ่งขัดแย้งกับนิทานเบงกาลีบางเรื่องที่กล่าวถึง ชายาเทวทาสี กับบุตรที่กลายเป็นดอกจำปา Seven Champa Brothers and one Parul Sister; plot เรื่องจำปาสี่ต้น และไชยเชษฐ์)

๒) เทวทาสี สาวงามผู้ขายศิลปะ

    และโดยมากความรักของนางเทวทาสีในวรรณคดีมักจะไม่สมหวัง เมื่อนางออกไปเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ในสมัยนั้นนางอาจจะถ่ายทอดความสามารถการเต้นรำให้ลูกและส่งกลับมาเป็นนางเทวทาสีได้อีกดังเช่นเรื่องของนางเมธาวี มารดาที่เคยเป็นเทวทาสีของนางมณีเมขไล ในวรรณกรรมมหากาพย์ของชาวทมิฬ



เรื่อง ศิลัปปะธิการัม (เชื่อว่าคนแต่งนับถือไชนะ ; เรื่องแม่นางเมธาวีผู้เป็นภรรยาน้อย พ่อค้า..โกวะลัน  และภรรยาหลวงนางกัณณะกี) และมณีเมขไล (คนแต่งเป็นชาวพุทธ ; เรื่องความรักของลูกสาว นางมณีเมขไลที่เป็นเทวทาสีกับเจ้าชาย)

เมื่อสามีทอดทิ้ง หรือตาย ก็สอนลูกสาวคือนางมณีเมขไลให้เต้นรำส่งมาเป็นเทวทาสี สุดท้ายลูกสาวไปรักกับเจ้าชาย แต่ในสมัยนั้นความรักของเทวทาสีกับเจ้าชายเป็นไปไม่ได้ จึงหนีไปบวชเป็นภิกษุณี ต่อมาได้พบ และได้บาตรวิเศษจากนางฟ้ารักษาพระสมุทรคือ "นางมณีเมขลา" ซึ่งมีอาหารอยู่เต็มบาตรเสมอ นางมณีเมขไลจึงนำอาหารแจกชาวโลก และบรรลุโลกุตรธรรม กลายเป็นภิกษุณีที่ชาวบ้านเคารพบูชา














    การที่จะรับนางเทวทาสีเป็นภรรยาของผู้มีอำนาจ(จริง) ไม่ใช่เรื่องยาก เช่นอาจจะสร้างเรื่องว่าตนเป็นอวตารของพระเป็นเจ้า หรือพระเจ้ามาเข้าฝันให้มารับนางไปเป็นภรรยาดังในนิทานเบงกาลี ที่พระราชายอมรับนางเทวทาสีมาเป็นชายาเพราะนางอ้างว่าเทวดามาเข้าฝันว่านางจะให้ลูกชายที่มีบุญญาธิการมากกับพระราชา

   อาจจะเป็นการต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างวัดและวัง ที่มีอำนาจต่อรองกันในสังคมโบราณที่อาศัยนางเทวทาสีเป็นเครื่องมือ จากผู้อุปถัมภ์นางเทวทาสีที่แต่เดิมเป็นทุกคนในชุมชนร่วมกัน เมื่อมีศาสนาอื่น ๆ เช่นไชนะ พุทธ คริสต์ อิสลาม เข้ามาในสังคมอินเดีย โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่รุ่งเรืองจนทำให้เกิดยุคพุทธศาสนาในอินเดียใต้ เมื่อประชากรที่นับถือฮินดูน้อยลง ความมั่งคั่ง และมั่นคงของวัดฮินดูจึงย้ายที่พึ่งพิงไปสู่กษัตริย์ เมื่อนางเทวทาสีที่มาจากวรรณะอื่น ๆ เข้ามามีบุตรกับกษัตริย์มากขึ้น หรือนางเทวทาสีมีสัมพันธ์กับผู้อุปถัมภ์หลายคนมีลูกกับใครไม่แน่ชัด เพื่อรักษาอำนาจของวรรณกษัตริย์ไม่ให้ถูกแทรกแซงจากวรรณะอื่นที่ปลอมปนเป็นลูก จึงมีการขัดขวาง ความรักของนางมณีเมขไล (ผู้กำพร้าพ่อที่มาไม่แน่ชัด) กับเจ้าชาย


     แต่สุดท้ายเมื่อยอมรับว่ากษัตริย์จะมีเล็กมีน้อยได้ ก็เพียงกำหนดว่าลูกที่จะเกิดจากนางเทวทาสีจะสืบทอดราชสมบัติ หรือมรดกไม่ได้ แสดงว่านางเทวทาสีและนางรำในวัง เริ่มถูกมองว่าเป็นหญิงงามเมือง (เช่นเดียวกับนางอัมพปาลีในสมัยพุทธกาล ซึ่งนางก็ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ในฐานะผู้ให้ความบันเทิงเช่นเดียวกับนางอัปสรที่เป็นของกลางในหมู่เทวดา เป็นผู้ขายศิลปะคล้ายเกอิชาของญี่ปุ่น แต่เกอิชาของญี่ปุ่น ไม่มีเรื่องศาสนาฮินดูมาเกี่ยวข้อง)

๓) เทวทาสี ทาสกามารมณ์ของสังคม

   แต่สมัยที่เลวร้ายที่สุดของนางเทวทาสีคือสมัยที่กษัตริย์ฮินดูเริ่มเสื่อมอำนาจ กษัตริย์อิสลาม และชาติตะวันตกต่าง ๆ และอังกฤษเข้ามาในอินเดียใต้ เป็นช่วงที่พุทธศาสนาในทมิฬเริ่มเสื่อมลงไปจนเกือบหมดเช่นกัน ไปโตที่ศรีลังกาแทน

    ส่วนฝ่ายนางเทวทาสี เมื่อขาดกษัตริย์อุปถัมภ์ ในสมัยที่ฝรั่งเข้ามามีอำนาจแทนผู้ปกครองอินเดียใต้ ชาวบ้านไม่ได้ศรัทธานางเทวทาสีในฐานะ สตรีผู้ศักดิ์สิทธิอีกแล้ว นางเทวทาสีอาจจะแต่งงาน ไปประกอบอาชีพอื่น แต่หลายคนกลายเป็นนางรำและนางบำเรอให้กับชาวต่างชาติ เศรษฐี และผู้มีอำนาจในสมัยนั้น และสุดท้ายก็กลายเป็นโสเภณีประจำหมู่บ้าน



   และไม่มีคนดีที่ไหนอยากให้ลูกของตนมาเป็นนางเทวทาสี หรือเรียนเต้นรำอีกเลย ทำให้ศิลปะการเต้นรำของนางเทวทาสีในรัฐทมิฬนาฑู ที่เรียกว่า เทวทาสี อาฏฺฏัม หรือ สดิร (อ่าน /สะ-ดื้อรฺ/) หรือ สถิราฏฺฏัม  กำลังจะสูญหายไปจากโลกนี้

๔) เทวทาสียุคใหม่ไม่ขาย Sex แต่เป็นศิลปินชั้นสูง ครูนักแสดงภารตนาฏยัม (ในรัฐทมิฬนาฑู)

    จนถึงยุคเริ่มต้นของ คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ อาจารย์รุกขมินิ เทวี ผู้ที่ได้เคยศึกษาการเต้นบัลเลต์จากอาจารย์ชาวรัสเซีย และสมรสกับสามีชาวอังกฤษ มีความสนใจในการฟื้นฟูการเต้นรำประจำชาติทมิฬขึ้นมาอีกครั้งกับกลุ่มเพื่อน ๆ เช่น อี. กฤษณะไอเยร์ , บาลาสรัสวดี ฯ และครูที่เคยเป็นนางเทวทาสีรุ่นสุดท้าย ผู้เต้นรำเพื่อถวายการบูชาแด่พระเจ้าเท่านั้น

   โบราณาจารย์เหล่านี้จึงสร้างคำขึ้นใหม่สำหรับเรียกศิลปะการแสดงของนางเทวทาสี ที่พวกเขาช่วยกันฟื้นฟูขึ้น คือ   "ภารตนาฏยัม" โดยมีความหมายว่า เป็นศิลปะการเต้นรำโบราณของ ภารตะ อีกชื่อเรียกของอินเดียที่มีที่มาจาก ท้าวภรตลูกนางศกุนตลา (แต่ก็มีคนลากเข้าไปเกี่ยวกับภารตนาฏยศาสตร์ ของพระภรตมุนี เช่นกัน แต่ไม่ใช้พระภรตน้องพระรามในรามเกียรติ์แน่)

โดยมีครูที่สอนภารตนาฏยัมมักอธิบายว่า ความหมายแฝงว่า ภารตะ นี้คือ

ภา คือ ภาวะ (การแสดง ให้เกิดนวรสในใจคนดู)
ร คือ ราคะ (ลำดับโน๊ตเพลงกัรนาฏิก)
ต คือ ตาลัม (จังหวะการเต้นรำ)

จากนั้นมีการประยุกต์ให้วงดนตรี ที่เคยยืนๆนั่งๆอยู่เบื้องหลังของ นักแสดงภารตนาฏยัม ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปสู่มุมซ้ายมือบนเวทีแสดง และนั่งลงอย่างเป็นระเบียบ พร้อมกับฉากหลังการแสดงที่สวยงาม ด้วยการปฏิวัติทางศิลปะนาฏกรรมการแสดงในสมัยยุคฟื้นฟูภารตนาฏยัมถึงยุค ปัจจุบัน

นอกจากนี้อาจารย์รุกขมินิ เทวี และเพื่อน ๆ ได้เผยแพร่การแสดงภารตนาฏยัมนี้ในฐานะของศิลปะการแสดงชั้นสูงในหมู่ชนชั้นสูงในสังคมอินเดีย โดยให้การแสดงภารตนาฏยัมเป็นการเต้นรำเพื่อบูชาพระเจ้าเท่านั้น ไม่ใช่การแสดงเพื่อความบันเทิงในกามารมณ์ของนางรำในวัง ดังนั้นท่ารำที่ยั่วยวนทั้งหลายจึงถูกตัดทิ้งไป

ซึ่งชนิดของการแสดงของนางเทวทาสีที่นางเมธาวี (แม่นางมณีเมขไล) ได้เคยแสดงในมหากาพย์เรื่องศิลัปปะธิการัม (ยุคพุทธศาสนาในอินเดียใต้) นั้น บางการแสดงมีอยู่ในภารตนาฏยัม และบางการแสดง (เช่นที่ต้องเต้นรำบนขาเทียมที่ทำด้วยไม้ ; ซึ่งไทยเรียกว่าขาโถกเถก, เหยียบลงบนสัตว์มีพิษต่าง ๆ บนพื้นให้ตาย) กลายเป็นการแสดงพื้นบ้านในปัจจุบันของรัฐทมิฬนาฑู เพราะหยาบโลนเกิดไป หรือดูน่ากลัวที่จะแสดงในวัดได้ แต่ปัจจุบันครูสอนภารตนาฏยัมก็พยายามดัดแปลงการเต้นรำพื้นบ้านต่าง ๆ ให้สามารถนำมาแสดงในวัดได้ เช่นให้แต่งตัวมิดชิดไม่โป๊ ตัดท่าที่ยั่วยวนออกไป และใช้คนแสดงเป็นสัตว์มีพิษต่าง ๆ แทนที่จะเอาสัตว์มาฆ่าในวัดจริง ๆ

                                               (การแสดงกะระกัม อาฏฏัม ฯลฯ ; ในวัด)
(ลักษณะของการแสดงพื้นบ้านที่ปรับให้สุภาพสามารถแสดงในโรงเรียนเด็กเล็กหรือวัดฮินดูได้)

(เดี๋ยวนี้พราหมณ์กินมังสวิรัติกันหมด ไม่ฆ่าสัตว์ ตามหลักอหิงสาที่อาจจะได้รับอิทธิพลจากศาสนาไชนะ และพุทธ..... ยกเว้นพราหมณ์เบงกาลียังกินเนื้อสัตว์ และโอริสสาถือว่าปลาไม่ใช่สัตว์กินได้เป็นมังสวิรัติ ยกเว้นลัทธิตันตระที่เลิกฆ่าคน มาฆ่าสัตว์แทน ส่วนมากรัฐเบงกอลของพราหมณ์เบงกาลี จะมีชื่อเสียงเรื่องการนับถือเจ้าแม่กาลี)

    อย่างไรก็ดีในมุมมืดของสังคม ปัจจุบันในชนบทบางแห่งจัดให้มีนางเทวทาสีตามศาลเจ้าฮินดูต่าง ๆ ประจำหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ โดยมากเป็นเทพท้องถิ่น (เหมือนเจ้าศาลปูตา หรือเจ้าแม่ต่าง ๆ ในภาคอีสานของไทย ที่ชาวบ้านอ้างว่าเป็นอวตาร หรือแบ่งภาคมาจากเทพฮินดูตนใดตนหนึ่ง เช่น พระศิวะบ้าง เจ้าแม่กาลีบ้าง พระนารายณ์บ้าง ฯลฯ) และลัทธิตันตระ (เชื่อเรื่องการบรรลุธรรมผ่านการเสพสังวาส)

   ซึ่งสตรีพวกนี้จะกลายเป็นเหยื่อทางกามารมณ์ของคนในหมู่บ้าน จากความเข้าใจเกี่ยวกับนางเทวทาสีที่สืบมาจากยุคมืด โดยที่นางเทวทาสีพวกนี้ ไม่มีสายเลือดมาจากนางเทวทาสี และไม่ได้รับการถ่ายทอดศิลปะการแสดงมาจากเทวทาสีโดยตรงแต่อย่างใด

ส่วนการเต้นรำพื้นบ้านที่ชาวบ้านร้องรำเต้นรำกันเอง มีหยาบโลนบ้าง มีกายกรรมบ้าง ก็ถือว่าเป็นศิลปินพื้นบ้านที่สืบทอดการแสดงมาจากสมัยโบราณอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับนางเทวทาสีโดยตรง


อย่างไรก็ดีคนไทย และฝรั่งรู้จักแต่บทบาทของนางเทวทาสีในแง่ลบ จากมุมมองของฝรั่ง และโลกภาพยนตร์อินเดียก็เน้นการขายภาพนางเทวทาสีในยุคมืด เพราะมันขายได้


...........

บทเรียนของนางเทวทาสีจากยุคมืด ปัจจุบันทำให้คำว่าเทวทาสีก็ยังเป็นสแลงเรียกโสเภณีอินเดีย

ส่วนพวกที่เป็นผู้สืบทอดการแสดงอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริงมาจากนางเทวทาสี ไม่เรียกตนเองว่าเป็นเทวทาสี

และการแสดงที่บริสุทธิ์ของเทวทาสีที่แท้จริงคือการเต้นรำถวายพระเจ้าเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อสนองกามารมณ์ของมนุษย์

เพราะการแสดงเพื่อสนองกามารมณ์ของมนุษย์เคยเป็นสาเหตุพานางเทวทาสีทั้งหลายไปสู่ยุคมืดจนถึงปัจจุบัน  ก็ยังเป็นรอยด่าง และตราบาป...จนทุกวันนี้ คนก็ยังใช้คำว่า "เทวทาสี" เป็นสแลงในความหมายอย่างว่า...นินทากันอยู่

(ซึ่งถ้าสงสัยจะถามว่า ระหว่างนักแสดงภารตนาฏยัม กับสตรีที่ถูกบังคับให้เป็นโสเภณี ใครควรถือว่าเป็นเทวทาสีตัวจริง? ก็ต้องถามกลับว่า คำว่า "เทวทาสี" ที่คุณเข้าใจคืออะไร? แก่นแท้ของความหมายโดยตรง หรือความหมายสแลง ความหมายที่คุณให้กับคำว่าเทวทาสีของคุณเป็นเชิงยกย่อง หรือดูถูก?

อนึ่งในสังคมอินเดียใต้ปัจจุบัน เรื่องระหว่างนักบวชหนุ่มรวย ๆ เป็นชู้ดาราสาวที่มีสามีแล้ว ก็มีทั้งจับได้และไม่ได้..... ประมาณ ๕ -๖ ปีที่แล้ว มีคนจับได้ว่า

นักบวชหนุ่มคนหนึ่งซึ่งมีคนนับถือมากว่าเป็นฤาษีพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ แต่กลับทำผิดในกามกับดาราสาวผู้มีสามีแล้ว ตอนแรกก็ถูกประณามจากสังคม บางคนก็ว่าดาราสาวเป็นคนทมิฬ คนทมิฬก็ว่าดาราสาวเป็นคนมลายลัม แต่คนมลายลัมก็ว่าเธอแสดงหนังครั้งแรกที่อันธประเทศ ไม่มีแผ่นดินไหนอยากรับว่าเป็นแผ่นดินแม่ของทั้งสอง

สุดท้ายนานไป นักบวชหนุ่มก็ได้ความคิดใหม่อ้างแนวคิดของลัทธิตันตระขึ้นมาในลัทธิของตนเอง อ้างว่าตนเป็นอวตารของพระเจ้า และดาราสาวคนนั้นเป็นนางเทวทาสี หรือศักติของเขาที่เป็นนักบวชหญิง

ปัจจุบันพราหมณ์สามีภรรยาทั้งสองก็ได้สาวกกลุ่มใหม่ที่นับถือตันตระ (การบรรลุธรรมผ่านการเสพสังวาส) เพิ่มด้วย...หากินง่าย ๆ หลอกคนว่าเป็นนักบวช เป็นสันยาสี (คนที่สละกามและการครองเรือนแล้ว) เป็นโยคินี เป็นเทวทาสี เป็นคนทรงของแขกใต้

แต่คนที่รู้ต้นสายปลายเหตุเขาไม่เชื่อกัน แขกใต้ก็เหมือนไทยมีทั้งผู้มีการศึกษามีปัญญาช่วยเพื่อนมนุษย์ และพวกต้มตุ๋น)

ดั้งนั้นใครอยากดูปาหี่ จ้ำปะ จำอวด แขกอินเดียใต้เชิญไปนอกวัด


         (การแสดง กะระกัม อาฏฏัม ; นอกวัด)

ส่วนเรื่องที่สังคมสมัยนี้มีความปลอดภัยมากขึ้นสตรีจึงกล้าแสดงออก เปิดตรงนั้นตรงนี้ตามแฟชั่นมากขึ้น ....จริงหรือ ???

ถ้าสตรีเปลือยในจอแก้วจอเงินคงไม่มีใครเข้าไปข่มขืนได้ แต่ในที่สาธารณะในสังคมไทยทุกวันนี้มีความปลอดภัยแค่ไหนกัน ? และกฏหมายปกป้องใครระหว่างคนกระทำและคนถูกกระทำ?

คิดดูเอง หรือคุณจะรู้สึกว่าตนมีค่าขึ้นจากการให้คนอื่นข่มขืนคุณทางความคิด? ถือว่าเป็นทานทางกามารมณ์ของสาธารณะชน..หรือ?

...อย่าให้สื่อล้างสมองมากนักจนลืมแก่นแท้คือคุณค่าที่แท้จริงของตัวคุณเองจากภายใน


หรือไม่ก็ประกาศไปเลยฉันเป็นฝรั่ง วัฒนธรรมไทย เยาวชนไทยชั่งหัวมัน? ก็สิ้นเรื่อง

จะได้ดูได้เพราะไม่ใช่ศิลปะอันงดงามตามคติไทย แต่เป็นคติแนวคิดฝรั่งไป

ควรอ่าน; http://www.bloggang.com/m/mainblog.php?id=neoheart

1 ความคิดเห็น: