ทำไมนางมณโฑ นางกฤษณาที่มีสามีหลายคนจึงไม่เคยตกต่ำและโดนดูถูกว่าเป็นหญิงไม่ดี
แต่นางกากีมีสามีหลายคนกลับโดนดูถูก ?
ตอบ ....เพราะนางกากีมาจากวรรณกรรมบาลี ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อต่อว่า หญิงที่มีสามีหลายคน ในสังคมทั่วไป ที่สตรีต้องพึ่งอำนาจของบุรุษ
ส่วนนางมณโฑ และนางกฤษณา มาจากวรรณกรรมสันสกฤตที่มองว่าสตรีชั้นสูงมีหน้าที่ทางการเมือง ในสังคมชั้นสูง ซึ่งต้องยอมรับอำนาจของสตรีที่มีอำนาจ สามารถมีสามีหลายคนเพื่อให้สามีพึ่งพิงอำนาจทางฝ่ายสตรี
รู้บ้างว่าใครใหญ่กว่า ?
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวรรณกรรมสันสกฤต หรือบาลีด้วย
เพราะสันสกฤตและบาลีเป็นภาษาคนละภาษา และคติความเชื่อก็ต่างกันคือเป็นพราหมณ์กับพุทธ แม้ว่าจะมาจากแขกอินเดียเหมือนกันก็ตาม
(ยกเว้นวรรณกรรมพุทธศาสนาสันสกฤต ซึ่งมีลักษณะเฉพาะจะกล่าวถึงในภายหลัง)
หลักฐานคือ นางกฤษณาที่ถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมบาลี (นางกัณหา ที่ไม่ใช่ลูกพระเวสสันดร) ก็ถูกว่า ว่าเป็นสตรีไม่ดีเช่นกัน
.........
ปัญจกันยา (เหล่าสตรีผู้บริสุทธิ์ทั้งห้า) पञ्चकन्या
นางมณโฑ นางกฤษณา (เทราปที) เป็นหนึ่งในห้าของเหล่านางปัญจกันยา ซึ่งในทางวรรณกรรมสันสกฤตถือว่าเป็นสตรีที่มีคุณงามความดีพร้อม และเป็นสตรีผู้บริสุทธิ์ งดงามทั้งกายวาจาใจ
เหล่านางปัญจกันยาทั้งห้าได้แก่
๑) นางมณโฑ
เป็นสตรีทำหน้าที่ของนางกษัตริย์ที่ดี เมื่อทศกัณฐ์โกรธจนจะฆ่านางสีดา นางได้ห้ามไว้ เนื่องจากคำนึงถึงคุณธรรมมากกว่าเรื่องส่วนตัว
(มีบางสำนวนในอินเดียบอกว่านางมณโฑดีเหมือนแม่ของนางสีดา และบางสำนวนก็แต่งเลยเถิดไปว่าพระลักษมีถูกฤาษีนารทสาปให้มาเกิดเป็นลูกรากษส และบางสำนวนในแถบแคว้นอัสสัมใกล้กับพม่าก็ว่านางสีดาเป็นลูกนางมณโฑ แต่ก็เป็นอนุภาคเรื่องย่อยที่น่าจะเติมเข้ามาในภายหลัง เพื่อสร้างเหตุผลว่านางสีดาไปอยู่ในเมืองลังกา นั้นเหมาะสมเหมือนลูกสาวกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ บางสำนวนก็ว่านางสีดาที่ไปอยู่ลังกาเป็นตัวปลอม ตัวจริงฝากไว้กับพระอัคนี)
๒) นางอหลยา (กาลอัจนา)
ในตำนานไทยนางเป็นชู้กับพระอินทร์และพระอาทิตย์จริง แต่ตำนานฮินดูหลายตำนานว่า พาลีและสุครีพ เป็นลูกของสตรีอื่น เช่นนางอรุณี ซึ่งก็คือพระอรุณที่แปลงเป็นหญิงเพื่อแอบเข้าไปในที่ส่วนตัวของพระอินทร์จนมีลูกกับพระอินทร์และพระอาทิตย์ แล้วจึงเอาลูกมาให้นางกาลอัจนาเลี้ยงก่อนจะกลับเพศเป็นเทวดาไปทำหน้าที่เป็นสารถีให้พระอาทิตย์เหมือนเดิม นางมีความเป็นแม่จึงรับเลี้ยงเด็กทั้งสองเหมือนลูก แต่นางสวาหะ (อัญชนา) บุตรสาว และฤาษีโคดมไม่ชอบจึงถูกสาปให้เป็นหินโดยไม่มีความผิด
๓) นางตารา
นางเป็นชายาของพญาลิงพาลี ต่อมาต้องยอมเป็นชายาของสุครีพเพื่อรักษาตำแหน่งรัชทายาทให้กับองคตบุตรของตน แต่ก็ใช่ว่านางจะเป็นสตรีโง่ ที่ยอมอยู่ใต้อำนาจของบุรุษเท่านั้น สมัยหนึ่งที่พระลักษณ์จะเข้าไปเมืองขีดขินเพื่อจะทุบสุครีพด้วยความโกรธทึ่เพลินกับความสุขในราชสมบัติจนลืมตามนางสีดา
พระลักษณ์ได้พบกับนางตารา นางตาราจึงได้สนทนาธรรมชั้นสูงกับพระลักษณ์ โดยนางได้แสดงภูมิปัญญาของตนเอง และชี้ให้พระลักษณ์เห็นถึงความไม่เหมาะสม ที่เกิดจากความใจร้อนของพระลักษณ์ จนทำให้พระลักษณ์ต้องแสดงความเคารพต่อนางตารา และเข้าไปเตือนสุครีพเท่านั้น (ไม่ได้เข้าไปทุบอย่างที่คิด)
๔) นางกฤษณา (เทราปที) द्रौपदी
นางกฤษณาเป็นยอดภรรยาที่ดี นางกฤษณาคือชายาของพวกปาฑวะ หรือคนไทยชอบเรียกว่าพวกปาณฑพทั้งห้าผู้เป็นลูกของท้าวปาณฑุ และนางกุนตี (ซึ่งมีศัตรูคือพวกเการพที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน) เมื่ออรชุนได้นางกฤษณาและพามาที่บ้านได้บอกนางกุนตีว่าได้ขนมมาให้แม่ (เป็นสำนวนเปรียบเทียบหมายถึงนางกฤษณา) นางกุนตีคิดว่าเป็นขนมจริงจึงให้เอาไปแบ่งกันทำให้นางกฤษณาต้องกลายเป็นสหชายา หรือภรรยาของปาณฑพทั้งห้าเพราะต้องทำตามคำพูดอันศักดิ์สิทธิ์ของแม่สามี (ในวรรณกรรมบาลีว่านางสมัครใจเลือกเอง)
ในวรรณกรรมสันสกฤตยังอธิบายว่าเป็นเรื่องกรรมนางกฤษณาเอง เนื่องจากชาติที่แล้วนางบูชาขอพรพระเจ้าให้ได้สามีดีมีคุณสมบัติต่าง ๆ มากมาย แต่คุณสมบัติที่ดีเหล่านั้นไม่สามารถมีอยู่ในคนเดียวได้ พระเจ้าจึงให้นางมีสามีห้าคนเพื่อให้นางได้สามีที่ดีมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่นางขอพรไว้คือ
ยุธิษฐิระ ลูกพระธรรมเทพ (พญายม) ผู้มีคุณธรรมสูง
ภีมะ ลูกพระพาย (เทพแห่งสายลม) ผู้ทรงพลัง
อรชุน ลูกพระอินทร์ ผู้ยิงธนูเก่ง
นกุล ลูกพระอัศวิน (เทพแฝด) ผู้เลี้ยงม้าเก่ง
สหเทพ ลูกพระอัศวิน (เทพแฝด) ผู้เลี้ยงโคเก่ง
นอกจากการที่นางกฤษณาจะได้สามีทั้งห้าที่มีคุณสมบัติครบตามที่นางต้องการแล้ว นางยังสามารถดูแลสามีทุกคนได้ดีจนทำให้สามีทุกคนยกย่องและเกรงใจนางมาก เป็นสาเหตุให้นางสัตยภามา ชายาของพระกฤษณะขอให้บอกวิธีมัดใจสามี ซึ่งก็กลายเป็นต้นกำเนิดของกฤษณาสอนน้องนั้นเอง
๕) นางกุนตี (ปฤถา)
นางกุนตี เป็นชายาของท้าวปาณฑุ ซึ่งเป็นพระราชาของหัสตินาปุระ นคร และเป็นมารดาของพวกปาณฑพทั้งห้า แห่งเมืองอินทรปรัสถ์ (इन्द्रप्रस्थ) ในเรื่องมหาภารตะ
เนื่องจากท้าวปาณฑุ ได้ฆ่าฤาษีตนหนึ่งที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาในป่าเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นกวาง (บางตำนานว่า ฤาษีและภรรยาแปลงเป็นกวาง)
จึงถูกสาปให้ตายในหลังจากมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา จึงสละราชสมบัติพาชายาทั้งสองคือ นางกุนตี
และนางมาทรี ไปบวชเป็นฤาษีในป่า แต่เนื่องจากการไม่มีบุตรชายเป็นบาป ท้าวปาณฑุจึงอนุญาตให้เหล่าชายาจะมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ได้เพื่อให้ตนได้ทายาทสืบสกุล นางกุนตีเคยได้รับมนตร์จากฤาษีทุรวาส ให้อัญเชิญเทพมาประทานโอรสได้ ดังนั้นนางกุนตีจึงใช้มนตร์เชิญเทพต่าง ๆ มาประทานโอรสให้นางและนางมาทรี จนท้าวปาณฑุได้ทายาทห้าคนเรียกว่าปาณฑวะ หรือปาณฑพได้แก่
๑) ยุธิษฐิระ นางกุนตีอัญเชิญพระธรรมเทพ (พญายม) มาประทานโอรส
๒) ภีมะ นางกุนตีอัญเชิญพระพาย (เทพแห่งสายลม) มาประทานโอรส
๓) อรชุน นางกุนตีอัญเชิญพระอินทร์มาประทานโอรส
๔) นกุล นางมาทรีอัญเชิญพระอัศวิน (เทพแฝด) มาประทานโอรส เป็นฝาแฝดกับ สหเทพ
๕) สหเทพ นางมาทรีอัญเชิญพระอัศวิน (เทพแฝด) มาประทานโอรส เป็นฝาแฝดกับ นกุล
ในมหาภารตว่าในสมัยสาวนางกุนตีเคยเชิญพระอาทิตย์มาประทาน กรรณะ (ราธียะ) ให้เป็นบุตรคนแรก แต่เนื่องจากนางไม่แต่งงานจึงนำไปทิ้งให้สารถีชื่ออธิรัฐเลี้ยงเป็นลูกแทน
ซึ่งตำนานนี้อาจจะมีการเพิ่มเติมสมัยหลังเพื่อยกย่องเกียรติของท้าวกรรณะหรือไม่ก็ไม่แน่ แต่โดยเนื้อเรื่องทั้งหมดเมื่อนางมาทรีเข้ากองไฟตายตามท้าวปาณฑุ ที่หัวใจวายเนื่องจากมีเพศสัมพันธ์กับนางมาทรีตามคำสาป (ลืมตัว)
ทำให้นางกุนตีต้องทำหน้าที่เลี้ยงพวกปาณฑพทั้งหมด ทั้งที่เป็นลูกของตนเองและไม่ใช่อย่างเท่าเทียมกัน (ตามคำขอร้องก่อนตายของนางมาทรี) นางกุนตีเป็นแม่ที่ดีอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพวกปาณฑพทั้งหมดในวัยเยาว์ พวกปาณฑพจึงเคารพรักนางมาก ทำให้คำทุกคำที่นางพูดกลายเป็นคำพูดอันศักดิ์สิทธิ์ที่ปาณฑพทุกคนต้องทำตาม
..........
และบางตำนานก็รวม นางสีดา เข้ามาในกลุ่มปัญจกันยาด้วย (กลายเป็นคนที่หก) ดังนั้นคำว่าปัญจกันยาอาจจะหมายถึงสตรีที่มีคุณธรรมมากกว่า
วรรณคดีของบาลีกล่าวถึงคำที่คล้ายกันคือ เบญจกัลยาณี มีความหมายว่า ความงามห้าประการของสตรี ผม เนื้อ ผิว กระดูก (รูปร่าง) และวัยงาม
สรุป ปัญจกันยาทั้งห้า บวกหนึ่ง (๖) คือ
๑) สีดา มณโฑ ตารา กาลอัจนา มาจากเรื่องรามเกียรติ์ ไทยรู้จักหมด แต่มีนางกาลอัจนาคนเดียวที่ไทยไม่ยอมรับว่าเป็นสตรีที่ดี
๒) นางกฤษณา และนางกุนตี มาจากเรื่องมหาภารตะ มีนางกฤษณาคนเดียวที่ไทยเรารู้จักดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น