วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560

นิทานทอผ้าตอนที่ ๒ เจ้าแม่กุดนางทอหูก


จากคำบอกเล่าของคุณครูอมรศักดิ์ กุมขุนทด ได้เล่าว่า

"เดิมชื่อกุดนางทอหูกมีมานานแล้ว คำว่ากุดเป็นภาษาพื้นเมืองหมายถึง ขาด ด้วน หรือสิ้นสุด ซึ่งกุดนางทอหูกเป็นชื่อจุดที่แม่น้ำสายย่อยมาสิ้นสุด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าแม่น้ำด้วน หรือแม่น้ำกุด

การที่เรียกว่ากุดนางทอหูก เนื่องจากในบริเวณแหล่งน้ำกุดแห่งน้ำในอดีตมีคำเล่าลือว่าทุกวันแปดค่ำสิบห้าค้ำในตอนกลางคืนจะได้ยินเสียงทอผ้ามาจากแม่น้ำกุดนี้

ซึ่งเป็นเสียงทอผ้าของนางเทพารักษ์ที่ชื่อว่า "เจ้าแม่สมศรี" (ชาวบ้านเชื่อแน่ว่าเป็นคนละตนกับนางนงประจันต์แห่งเขาวงพระจันทร์ของจังหวัดลพบุรี) และบางครั้งนางจะนำใยบัวมาแลกกับไหมของชาวบ้านเพื่อไปทอผ้า โดยประสบการณ์ทางวิญญาณต่าง ๆ ของชาวบ้านในแถบนี้ก็มักจะผูกพันกับเจ้าแม่สมศรีนี้เสมอ

แม้ว่าปัจจุบันจากการปลูกสร้างสิ่งต่าง ๆ ทำให้แม่น้ำกุดนางทอหูกเหลือแค่เพียงสระน้ำประจำหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านก็ยังกราบไหว้ เจ้าแม่กุดนางทอหูก หรือเจ้าแม่สมศรี หรือเจ้าแม่ผมหอมของอำเภอด่านขุนทด ที่โคราชนี้อยู่"



 ซึ่งครูอมรศักดิ์ กุมขุนทด ยังได้บอกว่าเชื่อว่าแต่เดิมบริเวณนี้คงเป็นชุมชนโบราณมาก่อนเช่นเดียวกับที่พิมาย เพราะมีการขุดพบวัตถุโบราณสมัยทวารวดี และเมื่อสอบถามก็พบว่าประชากรในแถบนี้ปัจจุบันเป็นกลุ่มชาวไทยเชื้อสายลาว หรือไทยอีสาน

(แม้ว่า ต.หินดาดจะเป็นที่มีชุมชนชาวไทยเชื่อสายเขมรด้วย แต่สำหรับหมู่บ้านกุดนางทอหูก ไม่ใช่ชุมชนชาวเขมรในโคราช)


แต่จากเรื่องเล่าของเจ้าแม่กุดนางทอหูกนั้นทำให้ สงสัยว่าตำนานเรื่องนี้จะได้อิทธิพลจากตำนานผีอีเงือกทอหูก (ที่กล่าวถึงนางเงือกชอบมายืมฟืม (คันหูกที่ใช้ทอผ้าจากชาวบ้านไป) ทางภาคเหนือ

ตำนานนางผมหอมของล้านนา ตำนานนางนงประจันต์ลูกสาวยักษ์กกขนาก และตำนานนางนาคสอนการทอผ้า ในตำนานสร้างนครวัดของเขมร ซึ่งอาจจะมีความสัมพันธ์กัน คือเป็นร่องรอยการผสมผสานทางวัฒนธรรมความเชื่อ ของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เคยอาศัยในพื้นที่แถบนี้ และการอธิบายชื่อของสถานที่ขึ้นใหม่หรือไม่


แต่ก็แปลกดีที่วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องแหล่งน้ำในกุดนางทอหูกเป็นสตรีเพศ เป็นเสมือนเทพประจำแห่งน้ำแหล่งนี้ ต่างจากแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่ชาวไทยจะเชื่อว่ามีพระแม่คงคารักษาอยู่ทุก ๆ สาย

แสดงว่านางทอหูก เจ้าสองนาง นางใย และผีนางเงือก ก็มีสถานะเทียบได้กับเจ้าแม่ประจำแม่น้ำสายต่าง ๆ ในตำนานแขกหรือไม่เพราะในอินเดียแม่คงคาก็รักษาแต่แม่น้ำคงคาเท่านั้น แม่น้ำสายอื่น ๆ ก็มีเจ้าแม่ตนอื่น ๆ รักษาเหมือนกัน

ในขณะที่พญานาค พระสมุทร และพระวรุณก็เป็นเทวดาเพศชายที่ควบคุมเจ้าแม่ประจำแหล่งน้ำเหล่านี้อีกต่อหนึ่งดูเหมือนเป็นความเชื่อที่ซ้อนทับกันและแย่งอำนาจกันตามความเชื่อในระบบเพศวิถีที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงจากสังคมไทยโบราณที่สตรีเพศเคยเป็นใหญ่มาเป็นบุรุษเพศหรือไม่? จากสมัยก่อนที่เคยนับถือผีที่มักให้อำนาจกับสตรีเพศ เปลี่ยนมาเป็นพราหมณ์และพุทธที่บุรุษเพศมีบทบาททางสังคมมากกว่า

แต่อย่างไรก็ดีนิทานเจ้าแม่กุดนางทอหูก (ตำนานที่มาแม่น้ำกุดนางทอหูก) เป็นนิทานทอผ้าของชาวไทยเรื่องแรกที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับชาวไทยในชุมชนโคราชและจังหวัดนครราชสีมา

ทำนองเดียวกับเรื่องนางนงประจันต์ทอผ้าของเขาวงพระจันทร์แห่งลพบุรี
(ตำนานห้ามขายน้ำส้มสายชู ให้คนแปลกหน้า)

ผีอีเงือกทอผ้าของชาวล้านนา (ที่มาลายผ้าซิ้นตีนจกเมืองลอง ลายแมงโบ้งเลน)

และนางหูกฟ้าท้าวแมงคาน (ตำนานห้ามทอผ้ากลางคืน) ของชาวผู้ไท และไทเขิน เป็นต้น

.........

ลายแมงโบ้งเลน

เป็นชื่อลายที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าลายโก้งเก้งซ้อนนกคู่ เป็นลายหลัก ลายโก้งเก้งจะเป็นรูปลายหยักและมีนกอยู่ 2 ตัวแทรกอยู่ในลายนี้ด้วย ลายแมงโบ้งเลนนี้ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนก็เล่าขานว่าเป็นลวดลายที่ติดหัวฟืมจากนางเงือกที่นำเอาฟืมมาคืน ตามตำนานเงือกทอผ้าของล้านนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น