วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

การสร้างต้นทุนทางวัฒนธรรมจากวรรณคดีไทย


มีวรรณคดีไทยโดยมากที่มาจากตำนานท้องถิ่น ซึ่งเกี่ยวพันกับความเชื่อของชาวบ้าน สถานที่มีชื่อเสียง และงานประเพณีสำคัญในท้องถิ่นต่าง ๆ แต่เนื่องจากคนไทยปัจจุบันขาดการเล่าเรื่อง จึงทำให้งานบุญประเพณีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นขาดเสน่ห์ และเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นไปอย่างน่าเสียดาย โดยวรรณคดีเหล่านี้สามารถน้ำมาใช้เป็นแนวทางในการสร้างต้นทุนทางวัฒนธรรมได้แก่
๑ ทำหน้าที่เป็นต้นเรื่องสร้างความเป็นมาให้กับประวัติของสถานที่สำคัญ เช่น นิทานพระรถเมรี นิทานพระพุทธบาท นิทานหนุมาน ปัญญาสชาดก ที่มีเชื่อสถานที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวละครในเรื่อง
๒ ทำหน้าที่เป็นที่มาของประเพณีและความเชื่อ เช่น มหาชาติ พุทธประวัติ นิทานพญานาค นิทานยักษ์หรือผีประจำท้องถิ่น  นิทานเทวดา นิทานเทพฮินดู (แม่ธรณี แม่คงคา พระยม)  ซึ่งยกมาเป็นต้นเรื่องอ้างเหตุประเพณีและพิธีกรรม
การท่องเที่ยวจากวรรณกรรม [Literature Tourism] “เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเภทหนึ่งที่อิงแนวคิดทางมานุษยวิทยา ซึ่งนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนต้องค้นคว้า และสร้างความหมายด้านค่านิยมของวัฒนธรรม กับตัวละครต่างๆ ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนานในเชิงวัฒนธรรมของสถานที่เหล่านั้นเรื่องราวจากมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกตะวันตก เช่น ดิ อีเลียด [The Iliad] และดิ โอดีสซี่ [The Odyssey]  ก็ได้รับความนิยมจากนักวิชาการและนักเขียนในยุคศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ ในการท่องเที่ยวตามรอยสถานที่จากมหากาพย์เรื่องดังกล่าว (รังสิมา กุลพัฒน์.  ๒๕๕๙; ออนไลน์)
 ซึ่งเรื่องราวในอีเลียดเป็นเรื่องราวจริงในยุคโบราณ ส่วนเรื่องราววรรณคดีหรือตำนานท้องถิ่นในไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องแต่งขึ้นใหม่ หรือเอาเรื่องเก่าที่ตนรู้จักมาสร้างเป็นตำนานท้องถิ่นของตน กล่าวคือบทบาทของวรรณกรรมในการอธิบายชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ในแต่ละท้องถิ่นนั้นเป็นบทบาทของคติชนในการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับ ท้องถิ่นของตน ซึ่งนับว่าเป็น บทบาทหนึ่งของคติชนในการให้การศึกษาแก่คนในสังคม การนำเรื่องนิทานต่าง ๆ มาอธิบายประวัติ ที่มาของชื่อสถานที่หรือภูมิศาสตร์ท้องถิ่นนับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดร่วมๆ กันในหลายพื้นที่ ในประเทศไทย  ซึ่งปรากฏการณ์นี้ อภิลักษณ์ เกษมผลกูล (๒๕๕๕; ๑๒๒) ได้ อธิบายว่า เป็นความพยายามในการอธิบายประวัติความเป็นมาหรือร่องรอยชุมชนของ คนกลุ่ม เก่าที่อพยพย้ายไป โดยมี คนกลุ่มใหม่ที่ย้ายเข้ามาในภายหลังที่ไม่มีความรับรู้เกี่ยวกับเรื่องราว ความเป็นมาเดิม เป็นผู้เล่าใหม่ และสร้างเรื่องใหม่ ทั้งนี้อาจเป็นความคิดที่จะนำนิทานเก่าแก่ที่ ตนรับรู้มาใช้อธิบายสถานที่หรือโบราณสถานในท้องถิ่นที่ตนย้ายมาอยู่ใหม่ เพื่อสร้าง สิทธิธรรมในการมาตั้งรกรากและผสานกลมกลืนกับท้องถิ่นหรือกลุ่มคนที่เคยอาศัยอยู่เดิม (กรกฎา บุญวิชัย. ๒๕๖๐  ; ๒๖๐)
.................................

๑ ทำหน้าที่เป็นต้นเรื่องสร้างความเป็นมาให้กับประวัติของสถานที่สำคัญ
ปัญญาสชาดก
๑. ท้าวปาจิต นางอรพิน เรื่องย่อ : (รังสิมา กุลพัฒน์, ๒๕๕๙; ออนไลน์) เส้นทางปาจิต-อรพิม ที่ปรากฏในเขตอีสานใต้           
ปาจิต อรพิม เป็นเรื่องราวของการพลัดพรากระหว่างเจ้าชายจากเมืองพรหมพันธ์นคร ที่ได้รับคำทำนายว่าต้องไปตามหาคู่ที่เมืองอื่น และโหรทำนายว่าคู่ของตนจะอยู่ในท้องของหญิงที่มีกลดให้ร่มเงาอยู่ตลอดเวลา เจ้าชายปาจิตเดินทางไปพบนางบัวซึ่งกำลังตั้งครรภ์และกำลังดำนา โดยมีร่มเงาตามนางตลอดเวลาจึงได้ขออาศัยช่วยดูแลลูกที่เกิดมา คือนางอรพิม จึงเป็นแหล่งกำเนิดชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ผูกโยงให้กับชื่อเรื่อง
·      บ้านจารย์ตำรา/บ้านกางตำรำ คือที่ทราบปาจิตมาหาฤๅษีจันทร์ให้ช่วยตำนายเนื้อคู่ ปัจจุบันอยู่ใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
·      บ้านท่าหลวง เพราะมีท่าน้ำใหญ่ แต่ว่าผิดทางท้าวปาจิตจึงไปทางใหม่ ปัจจุบันอยู่ใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
·      บ้านสัมฤทธิ์/บ้านสำริต พบแม่นางอรพิม คือยายบัวที่ตั้งครรภ์นางอรพิมอยู่ มีร่ม (กลดทิพย์อยู่เวลาทำงานกลางแจ้ง)  ปัจจุบันอยู่ใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
·      บ้านตำแย เพราะไปเรียกหมอตำแยมาให้นางบัว บ้านนางเหริญที่นางอรพิมหัดเดิน ปัจจุบันอยู่ใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
·      ตำบลเมืองพลับพลา  ที่ขบวนขันหมากของท้าวปาจิตแวะพัก (เมื่อนางอรพินอายุ ๑๖ ปี ท้าวปาจิตจะจัดขบวนขันหมากมาสู่ขอ) อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา
·      อำเภอลำปลายมาศ ที่ท้าวปาจิตกว้างขันหมาก ทิ้งเงินทิ้งทองไว้ เพราะรู้ว่าท้าวพรหมทัตมาลักพานางอรพิมไป อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
·      ถ้ำเป็ดทอง เป็นที่เป็ดทองที่ท้าวปาจิตพามาไปอยู่  อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์
·      ตำบลกงรถ ที่ทุบเกวียนบรรทุกขันหมากมาเหลือแต่ล้อ อ. ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา
·      อำเภอพิมาย ท้าวปาจิตรีบไปหานางอรพิมโดยปลอมเป็นพี่ชายนางอรพิมเห็นจึงเรียกว่า พี่มา กลายเป็นชื่อปราสาทหินพิมาย และเมืองพิมาย ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ จ.นครราชสีมา
·      เมรุพรหมทัต (เจดีย์ใหญ่ในปราสาทหินพิมาย) ท้าวปาจิตฆ่าท้าวพรหมทัตชิงนางปาจิตคืนสำเร็จ ก็มีกรรมทำให้พลัดพรากแต่สุดท้ายก็ได้เจอกัน แล้วได้สร้างเมรุพรหมทัตขึ้นเพื่อเป็นการไถ่บาปที่ได้ฆ่าท้าวพรหมทัต ปัจจุบันอยู่ใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ฯลฯ


๒. นิทานพระรถเมรี
เศรษฐีและภรรยาเลี้ยงลูกสาว ๑๒ คนไม่ไหวเอาไปปล่อยทิ้งไว้กลางป่า ก่อนที่ทั้งสองจะถูกนางยักษ์สันทมาร (สันทรา ก็ว่า) จับกิน แล้วนางยักษ์ก็เอาลูกสาวทั้ง ๑๒ ของเศรษฐีไปเลี้ยง โดยเด็ก ๆ ไม่รู้ว่าแม่บุญธรรมเป็นยักษ์ แต่เมื่อโตขึ้นก็รู้เรื่องแล้วหนีนางสันทมารไปจนพบกับพระรถสิทธิเจ้าเมืองไพสาลีที่รับนางทั้ง ๑๒ ไปเป็นชายา ฝ่ายนางยักษ์สันทมารด้วยความแค้นใจก็ตามมาปลอมเป็นนางสมุดชาสาวงาม เพื่อพบกับพระรถสิทธิจากนั้นก็ทำเล่ห์กลและเสน่ห์ต่าง ๆ กลายเป็นมเหสีเอก แล้วจากนั้นให้จับนางทั้ง ๑๒ ไปขังไว้ควักตาใส่โหลดองเก็บไว้ทำเครื่องปรุงยารักษาอาการป่วยของตน ในขณะนั้นมีนางเภาน้องสุดท้องคนเดียวที่ได้รับความเมตตาควักแต่ออกแค่ข้างเดียว ซึ่งในขณะนั้นชายาทั้ง ๑๒ ก็กำลังตั้งครรภ์และคลอดลูกออกมา ทุกคนจะถูกพวกนางทั้ง ๑๑ จับกินหมด ส่วนนางเภาเก็บส่วนแบ่งต่าง ๆ ซ่อนไว้ เมื่อถึงคราวคลอดลูกก็ก็เลยเอาส่วนแบ่งต่าง ๆ ที่เคยเก็บไว้มาให้ป้า ๆ กินแทนแล้วนางก็แอบเลี้ยงลูกจนโต ตั้งชื่อให้ว่า รถเสน ด้วยความช่วยเหลือของเทวดาในป่าเขา และพระอินทร์ แล้วรถเสนก็ออกจากถ้ำมาเล่นพนันเพื่อหาข้าวปลาอาหารไปให้แม่และป้า ๆ
·      เขาแดง เป็นถ้ำที่ใช้ขังนางสิบสอง เมื่อพระรถเสนออกจากถ้ำก็พบไก่ จึงนำไก่ไปชนพนันชนะเพื่อแลกข้าวห่อมา เลี้ยงแม่และป้าอยู่เสมอๆ บริเวณด้านหน้าของเขาแดงมีภูเขาหินเล็กๆ แยกตัวออกจากเขาแดง ชาวบ้านแถวนี้เชื่อว่าภูเขาเล็กๆ นี้เป็นเขาหลักไก่ที่พระรถเสนใช้ล่ามไก่นั่นเอง โดยบริเวณเขาแดงเป็นลานสะบ้าที่พระรถเสนใช้เล่น สะบ้าพนันกับโคบาลอีกด้วย ปัจจุบันคือ บ้านเขาแดง ต. พญาขัน อ. เมืองพัทลุง จ. พัทลุง
·      บ้านควนถบ วัดควนถบหรือบ้านควนถบ หมายถึงควนสินธพ ซึ่งสินธพคือ ม้าพี่เลี้ยงของพระรถเสน ที่พระอินทร์เอามาให้เพื่อใช้ในการเดินทางไปยังเมืองยักษ์ (ประพนธ์ เรืองณรงค์) หลังจากนางสมุดชา (นางสันทมารแปลง) รู้ว่าพระรถเสนเป็นลูกนางเภา จึงแกล้งใช้ให้รถเสนไปเอามะม่วงหาว มะนาวโห่ จากเมืองยักษ์มาเป็นยา แต่ในสารน์ที่ส่งไปให้นางเมรีลูกสาวจับรถเสนฆ่าที่เมืองยักษ์ ปัจจุบันอยู่ บ้านควบถบ ต. พญาขัน อ. เมืองพัทลุง จ. พัทลุง
·      บ้านควนสาร คำว่า ควนหมายถึงพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเนิน ส่วนคำว่า สารมาจาก ฤๅษี แปลงสาร อนุภาคสำคัญอีกอย่างหนึ่งในเรื่องพระรถเมรี ตามตำนานเล่ากันว่า เมื่อนางสนทรา ทราบว่าพระรถเสนคือโอรสของพระรถสิทธิ์กับนางสิบสอง จึงทำอุบายเพื่อต้องการฆ่าพระรถเสน โดยการแกล้งว่าตนป่วยไม่มียารักษาหายนอกจากมะม่วงรู้หาว มะนาวรู้โห่ที่เมืองตาวัน (เมืองยักษ์) นางสนทราจึงเขียนสารตราผูกคอม้าแล้วให้พระรถเสนนำไปให้นางเมรี (กังหรี) ระหว่างเดินทางไปเมืองตาวันพระรถเสนพบกุฏิฤๅษีจึงเข้าไปนมัสการ ฤๅษีทราบด้วยญาณจึงแปลงสารที่นางสนทรา เขียน จากที่นางต้องการให้นางเมรีฆ่าพระรถเสนทันทีที่ไปถึง จึงเขียนสารใหม่ให้เป็นให้อภิเษกสมรสกับพระรถเสนทันทีที่ไปถึง ปัจจุบันอาศรมพระฤาษีหรือพ่อแก่คือ บ้านควนสาร ต. คูหาสวรรค์ อ. เมืองพัทลุง
·      บ้านพระเกิด บริเวณบ้านพระเกิดเดิมเป็นแหล่งจับช้างและเลี้ยงช้าง เพื่อส่งเป็นส่วยให้แก่ กรุงสทิงพาราณสี (อ.สทิงพระ จ.สงขลาในปัจจุบัน) จึงได้ชื่อว่า ที่คชหมายถึงที่เลี้ยงช้างและส่งส่วยช้าง บ้างก็เรียกว่า คชบุรีตามตำนานจึงถูกผูกเรื่องว่า คชบุรี , คชปุรนคร หรือเมืองตาวันตามเรื่องรถเสนชาดก นอกจากบ้านพระเกิดจะมีตำนานเกี่ยวข้องกับเรื่องพระรถเมรีแล้ว ที่บ้านพระเกิดยังมีตำนานเรื่องนางเลือดขาว(บ้านเกิดของนางเลือดขาว) และตำนานพระผุด (พระพุทธรูป ผุด=พระพุทธรูปเกิดขึ้นเอง) จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านพระเกิด  ปัจจุบันคือ บ้านพระเกิด ต. ฝาละมี อ. ปากพะยูน จ.พัทลุง
·      ควนพนางตุง (อาจารย์เปลื้อง ณ นคร นอกจากนี้อาจารย์ยังอธิบายว่า พะนางตุงมา จากคำ พนังหมายถึง กำแพงหรือทำนบกั้นน้ำอย่างใหญ่ ส่วน ตุงหมายถึงธง รวมความแล้ว จึงหมายถึง กำแพงมีธงประดับ)  แต่มีการลากเข้าความคำนิทานพระรถเมรีว่า คำว่า พนางคือ พระนาง หมายถึงนางสนทรา (สันทมาร) ส่วนคำว่า ตุงภาษาถิ่นใต้ หมายถึงหกคะมำไปข้างหน้า ดังนั้น พนางตุงมีความหมายว่า พระนางสนทราหกคะมำ และตายไปข้างหน้า ตามตำนานที่เล่าว่า เมื่อพระรถเสนกลับจากเมืองตาวันถึงเมืองไพสาลีแล้วก็ ไปเข้าเฝ้าพระรถสิทธิ์ผู้เป็นพระบิดา ฝ่ายนางสนทรา นางแค้นใจมากที่พระรถเสนไม่ตาย แต่นางเมรีลูกสาวตนกลับตายเพราะตรอมใจที่พระรถเสนหนี นางจึงแปลงกายเป็นยักษ์หวังจะฆ่าพระรถเสน ท้ายที่สุดพระรถเสนฆ่านางสนทรา ได้เนื่องจากมีไม้เท้าชี้ตายชี้เป็น (หัวใจแม่กำพด) ที่ขโมยมาจากเมืองตาวัน ซึ่งตอนที่นางสนทราตายนางได้หกคะมำ ไปข้างหน้า ร่างของนางจึงล้มไปอยู่บริเวณบ้านสุนทรา จ.พัทลุง ทำให้บริเวณที่ฆ่านางสันทมารเรียกว่า ควนพนางตุง ปัจจุบันคือ บ้านควนพนางตุง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน
· บ้านสุนทรา เมื่อนางสนทราตายบริเวณบ้านสุนทรา ชาวบ้านได้ลากศพของนางไปทิ้งกลางทุ่งนา เป็นบริเวณหนองน้ำหน้า วัดสุนทราวาส หรือวัดหัวสุนทรา เดิมวัดนี้ชื่อวัดปลายนา (ชายนา) ซึ่งตรงกับเนื้อเรื่องในพระรถเมรีคำกาพย์บทที่ ๒๔๗๘-๒๔๗๙ ว่า “ชักแล่นไปเต็มพัก ปากนางยักษ์กินแต่ดิน ผ้าผ่อนล่อนปล้อนปลิ้น  ต่างได้ยินชวนกันมา ลากไปสามชั่วงาย ทิ้งเอาไว้กลางทุ่งนา ได้เรียกหัวสุนทรา แต่นั้นมาจนทุกวัน” (พระรถเมรีค ากาพย์, ๒๕๔๘, น. ๒๐๘) เมื่อนางยักษ์สนทราตาย ชาวบ้านได้ลากไปทิ้งบริเวณหนองน้ำหน้าวัดสุนทราวาส ส่วนหัวใจและเครื่องทรงของนางสนทรา ชาวบ้านได้นำไปฝังระหว่างต้นประดู่บริเวณประตูทางออกหลังวัดสุนทราวาสในปัจจุบัน ตั้งแต่ นั้นมาวัดปลายนาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดสุนทราวาสตามชื่อนางยักษ์สนทราที่มาจบชีวิตบริเวณนี้ ปัจจุบันอยู่ที่ บ้านสุนทรา ต. ปันแต อ. ควนขนุน จ.พัทลุง
·      เมืองพระรถ เป็นเมืองเก่าของพัทลุงเมืองหนึ่งที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นใน แต่ตามตำนานเล่ากันว่า เมื่อพระรถเสนฆ่านางยักษ์สนทรา/สันทมาร ตายแล้วด้วยไม้ชี้เป็นชี้ตาย พระรถสิทธิ์จึงยกเมืองไพสาลีให้พระรถเสนปกครอง ปัจจุบันคือ ต. ควนมะพร้าว อ. เมืองพัทลุง จ. พัทลุง (ชัยวุฒิ พิยะกุล, ๒๕๒๕, น. ๙๗)
พุทธตำนาน
         คือพุทธประวัติที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ หรือดัดแปลงแต่งเติม (วรรณคดีไทยที่แปลพุทธประวัติโดยละเอียดคือ ปฐมสมโพธิกถา)
         ๑. ตำนานพระธาตุอรหันต์โมคคัลลาน์ 
ในสมัยนั้นได้เกิดเหตุนกอินทรีย์สองผัวเมียออกอาละวาดกินสัตว์และชาวบ้านเป็นอาหาร ทำให้เกิดความเดือดร้อน แม้แต่พระอินทร์ก็ช่วยไม่ได้ พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกได้นิมิตรเห็นความโหดร้ายของนกอินทรีย์สองผัวเมีย จึงให้พระโมคคัลลาน์ไปช่วยสรรพสัตว์ที่ได้รับความเดือดร้อน และปราบนกอินทรีย์สองผัวเมียได้สำเร็จ หลังจากนั้นมาชาวบ้านจังหวัดร้อยเอ็ดกะเลยนับถือพระโมคคัลลาน์ แล้วก็ร่วมใจสร้างพระธาตุอรหันต์โมคคัลลาน์ขึ้นไว้เพื่อเป็นที่ระลึก ปัจจุบันอยู่ที่ อ.สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ด
๒. นิทานพระพุทธบาท
 การนับถือรูปเท้าในศาสนาฮินดูมีทั้ง "วิษณุปาทะ" (विष्णुपाद วิษณุบาทรอยเท้าของพระนารายณ์ ส่วน "ศิวะปาทะ" (शिवपाद ศิวะบาท) ร้อยเท้าของพระศิวะ ก็มีเช่นกันแต่พบน้อยกว่า รอยวิษณุบาทที่มีชื่อเสียงและเป็นนับถือของชาวฮินดู เป็นไปได้ว่าพระนารายณ์อวตารมาในโลกมนุษย์มากกว่าตามความเชื่อ จึงมีพระบาทอวตารของวิษณุและศักติของพระองค์เช่น  พระบาทพระแม่ลักษมี  พระบาทพระนางราทา พระบาทพระราม (ตอนที่พระภรตทูลขอให้พระรามไม่ต้องไปป่าให้กลับไปครองเมือง แต่พระรามมอบรองเท้าให้พระภรตเอาไปครองเมืองแทน)
ส่วนพระพุทธบาทในพุทธศาสนาของไทยถือว่าเป็นรอยเท้าของพระพุทธเจ้า และมีความสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องไตรภูมิ ไม่ว่าเป็นรุ่นลพบุรี สุโขทัย หรืออยุธยา แม้แต่ล้านช้างและเขมรก็คือ สัญลักษณ์ที่เป็นมงคล ๑๐๘ ประการ เป็นสัญลักษณ์ที่เปรียบเทียบไม่ได้กับสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลในที่ไหนๆ เลย ซึ่งธรรมดาแล้วมงคล ๑๐๘ ประการของพระพุทธบาทคือสิ่งที่ทำให้เห็นจักรวาลทางพุทธที่แตกต่างไปจากคติของศาสนาฮินดูในด้านภพภูมิ เพราะจะแสดงลำดับชื่อให้แลเห็นความเป็นไตรภูมิที่ประกอบด้วย กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ค่อนข้างชัดเจน รอยพระพุทธบาทของทางพุกามและสุโขทัยแลเห็นภาพสัญลักษณ์ในรูปต่างๆ ที่ไม่มีรูปคนและเทพเป็นตัวแทน แต่ทางลพบุรีและอยุธยามักมีรูปเทพแสดงภพภูมิต่างลำดับชั้น โดยรอยพุทธบาทที่สำคัญในประเทศไทย เช่น
·      รอยพระพุทธบาท วัดพระบาทปู่ผาแดง จ.ลำปาง
·      รอยพระพุทธบาท จ.สระบุรี
·      รอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
·      พระพุทธบาทน้ำทิพย์ จ.สกลนคร
·      รอยพระพุทธบาท สระมรกต จ.ปราจีนบุรี
โดยในแต่ละท้องถิ่นก็มีนิทานและตำนานเกี่ยวกับพุทธบาทกับการเคยเสด็จมาเยือนของพระพุทธเจ้าที่มีความสำคัญกับงานประเพณีที่ต่าง ๆ ที่สำคัญ
๓. ตำนานพุทธรูปพื้นบ้าน
ก. หลวงพ่อปู่ศรีราชา
ตำนานคุณปู่ศรีราชาเป็นเรื่องเล่าท้องถิ่นในแถบตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าต่อกันมาว่า คุณปู่ศรีราชาเป็นคนจีนที่ล่องเรือสำเภามาค้าขาย โดยมากันสามคนพี่น้อง พี่คนโตชื่อว่า จีนเคราคนรองชื่อว่า จีนขานส่วนคนสุดท้องชื่อว่า จีนกู่เมื่อสามพี่น้องแล่นเรือมาจนถึงบริเวณเขายี่สารซึ่งในอดีตเป็นทะเล เรือสำเภาได้พุ่งชนกับเขาจนเรือแตก พี่น้องทั้งสามคนจึงต้องพลัดพรากจากกัน โดยพี่คนโตที่ชื่อจีนเคราได้ไปอยูที่ เขาตะเคราคนรองที่ชื่อจีนขานอยู่ที่ เขายี่สารส่วนน้องคนเล็กชื่อจีนกู่ได้ไปอยู่ที่ เขาอีโก้ทั้งสามพี่น้องได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ต่างๆ ทำให้เกิดเป็นหมู่บ้านอยู่กันสืบมาจนทุกวันนี้ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ๒๕๕๙; ออนไลน์)
งานสงกรานต์จะมีพิธีเวียนเทียนคุณปู่ขึ้น โดยถือเอาวันที่ 17 เมษายน ของทุกปีเป็นวันจัดงาน ในอดีตจะมีการแห่คุณปู่ศรีราชาไปบางตะปูนเช่นเดียวกับงานประจำปีเพื่อให้ชาวบ้านร่วมทำบุญและแจ้งให้ท้องถิ่นอื่นทราบ และจะแห่กลับมาประกอบพิธีเวียนเทียนที่หมู่บ้าน โดยในวันงานตอนแปดโมงเข้า ชาวบ้านจะจัดเครื่องเซ่นไหว้ ครอบครัวละ 1 สำรับ โดยแต่ละบ้านจะทำเครื่องเซ่นบ้านละ 1 สำรับ ประกอบด้วย ขนมต้มขาวต้มแดง ขนมคันหลาว กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน ข้าวสวยและไข่ต้ม และทำบายศรีเหน็บที่ปากชามข้าว และน้ำสะอาด (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ๒๕๕๙; ออนไลน์)
นิทานพระราม
         ๑. หนุมานกับเขาสรรพยา
         เขาสรรพยา ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ หมู่ 1 ตำบลสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ภูเขาลูกนี้เดิมชื่อว่า เขาสับยา เกี่ยวข้องกับวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกับชื่อของท้องถิ่นอื่น ๆ ในบริเวณเขตจังหวัดใกล้เคียง เช่น เมืองลพบุรี ทุ่งพรหมาสตร์ ทะเลชุบศรในจังหวัดลพบุรี เป็นต้น  เมื่อพระลักษมณ์รบกับกุมภกรรณและเสียทีถูกหอกโมกขศักดิ์ พิเภกได้ทูลให้พระรามทรงทราบถึงฤทธิ์ของหอกและยาที่จะแก้ไข จึงได้มีพระบัญชาให้หนุมานไปเอาสังกรณีตรีชวาหรือสรรพยา หนุมานได้เหาะไปที่เขาหลวง แต่ไม่รู้จักสังกรณีตรีชวาจึงร้องถามหาอยู่ตีนเขา ก็ได้ยินขานรับอยู่บนยอดเขา เมื่อขึ้นไปยอดเขาร้องถามหาอีกก็ได้ยินขานรับอยู่ตีนเขา ในที่สุดหนุมานโกรธพอได้ยินขานรับบนยอดเขาก็หักเอากลางเขาแบกเหาะไป เมื่อเหาะไปได้สักพักก็บิส่วนหนึ่งทิ้งไปกลายเป็นเขาขยายในเขตอำเภอเมืองชัยนาทปัจจุบัน ขณะที่เหาะต่อมารู้สึกกระหายน้ำยิ่งนัก แลเห็นบึงใหญ่อยู่กลางทางจึงแวะเอาเขาวางลงริมบึง (ภายหลังเรียกบึงนี้ว่า "บึงสรรพยา") วักน้ำด้านตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นดื่ม ทำให้บริเวณนี้ลึกกว่าที่อื่น ๆ (ต่อมาบึงสรรพยาตื้นเขิน บึงเล็กลงปัจจุบันเหลือแต่ "บึงอรพิม") เนื่องจากบริเวณนี้เป็นดินเลน เขาที่หนุมานวางไว้ได้ยุบจมดินจนติดแน่น เมื่อหนุมานดื่มน้ำแล้วจึงยกเขาไม่ขึ้น
แต่บางท่านว่าเมื่อหนุมานกระหายน้ำ ได้เหาะลงวางเขากลางทุ่งนาแล้วเดินไปขอน้ำเด็กเลี้ยงควาย แต่เด็กเลี้ยงควายเห็นหนุมานเป็นลิงนอกจากจะไม่ให้น้ำแล้วยังหยอกล้อเล่นอีกด้วย หนุมานโกรธเดินไปดื่มน้ำที่แม่น้ำ (เจ้าพระยา) ทางเดินไปกลับเป็นลำรางข้างวัดโบสถ์ (วัดร้าง) ชาวบ้านเรียกว่า "บางโบสถ์" (ปัจจุบันตื้นเขินแล้ว) ขณะที่เดินไปดื่มน้ำนั้นเขาได้งอกรากติดกับพื้นดิน เมื่อหนุมานได้ดื่มน้ำแล้วกลับมายกเขาไม่ขึ้น จึงเรียกสังกรณีตรีชวาเช่นครั้งก่อนแล้วหักเอายอดเขาด้านทิศใต้ไป เขาสรรพยาด้านทิศใต้จึงลาดลง ก่อนจากไปหนุมานนึกเคืองว่าบนเขานี้มีสรรพยารักษาได้ทุกโรค แต่คนที่นี่ใจจืดขอแค่น้ำก็ไม่ให้กินเลยสาปไว้ว่าอย่าให้คน (เกิด) สรรพยาใช้ยาถูกกับโรคใด ๆ เลย (แต่คน-เกิด-ที่อื่นมาเอาสรรพยาไปรักษาโรคหาย) และสลัดขนเป็นต้นละมานให้เข้าหูเพื่อป้องกันคนขึ้นไปหาสรรพยาบนเขา แล้วหนุมานก็เหาะนำเขาไป แต่โดยที่เป็นยอดเขามีขนาดเล็กลง หนุมานได้คอนเขาไปแล้วเอาไปวางที่เกิดเหตุ จึงเรียกสืบกันมาว่า "เขาสมอคอน" (หรือสะโหมคอนตามสำเนียงชาวบ้าน) ที่ตำบลสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ปัจจุบัน
         ๒. หนุมานกับทุ่งพรหมมาศ
 เมื่อครั้งพระรามรบชนะทศกัณฑ์แล้ว  พระองค์ ปูนบำเน็จรางวัลต่าง ๆ ให้แก่แม่ทัพนายกอง และบรรดาพลพรรคทั้งหลายที่ช่วยกันทำศึกทุกคน ส่วนกำแหงหนุมานผู้เป็นยอดทหารเอก มีความดีความชอบมาก พระองค์จึงประทานเมืองอโยธยาให้กึ่งหนึ่ง แต่หนุมานไม่สามารถตีเสมอเจ้านายได้เมื่อขึ้นบัลลังก์ก็ปวดเศียรเวียนเกล้า คิดได้จึงถวายเมืองคืน พระรามจึงคิดสร้างเมืองใหม่โดยยิงศรพรหมมาสตร์เสี่ยงทายหาที่ตั้งเมือง แล้วให้หนุมานเหาะตามไป ลูกศรตกที่ใด  ให้หนุมานนั้นใช้เป็นที่ตั้งเมือง เมื่อพระรามแผลงศรไป  ศรได้ไปถูกภูเขา เก้ายอด แตกกระจาย และตกยังพื้นอันเป็นเมืองลพบุรี  ด้วยความแรงของลูกศร ทำให้ดินบริเวณนั้น แตกกระจาย กลายเป็นทุ่งพรหมมาสตร์ ตามชื่อศร ปัจจุบันคือ บ้านท่าหิน  แล้วหนุมานก็จัดการเอาหางกวาดดิน ที่แตกกระจาย ทำเป็นกำแพงเมือง ปัจจุบัน กลายเป็นเขาสามยอด  ตอนที่ศรตกลงดินใหม่ ๆ ด้วยอำนาจของศรทำให้ดินบริเวณนั้นร้อนระอุกลายเป็นสีขาว ต่อมาได้นำมาทำเป็นดินสอพอง ศรของพระรามมีอาถรรพ์มาก เมื่อปักลงแล้วเปรียบเสมือนเป็นเสาหลักบ้านหลักของลพบุรี ลูกศรนี้ต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงให้ขังเปียกอยู่ตลอดเวลา ถ้าปล่อยจนแห้งลูกศรจะร้อนและลุกเป็นไฟ แล้วเกิดเพลิงเผาผลาญบ้านเรือนของชาวลพบุรี โดยเหตุนี้เอง  ชาวตลาดลพบุรี จึงได้สร้างศาลครอบคลุมศรไว้ ให้ชื่อว่า ศาลลูกศร  เมื่อสร้างเมืองใหม่เสร็จแล้วจึงประทานนามเมืองว่า นพบุรี เพราะแผลงศร ไปถูกภูเขาเก้ายอด ต่อมาเพี้ยนเป็น ลพบุรี

......................................

๒ ทำหน้าที่เป็นที่มาของประเพณีและความเชื่อ
มหาชาติ
มหาชาติคือชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ที่ได้จุติมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาเกิดเป็นพระเวสสันดร ก่อนที่จะกลับชาติมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระศากยมุนี พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันในสมัยพุทธกาล โดยในชาติที่กำเนิดเป็นพระเวสสันดร เป็นหนึ่งในเรื่องทศชาติชาดก คือ ๑๐ ชาติสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ได้แก่ เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว
ซึ่ง เว นี้คือพระเวสสันดร ซึ่งเป็นชาติที่บำเพ็ญทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นชาติสุดท้ายที่จะเป็นพระโพธิสัตว์จึงถูกเรียกว่า “มหาชาติ” โดยวรรณคดีที่เอาเรื่องราวในมหาชาติไปแต่งมีมากมาย ไม่ว่า จะเป็นมหาชาติคำหลวง ร่ายยาวมหาชาติ มหาชาติกลอนเทศน์ ฯ เป็นต้น ซึ่งในพระมาลัยคำหลวงมีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระมาลัยเสด็จไปเฝ้าพระศรีอารย์บนชั้นดุสิต ได้สอบถามว่าคุณความดีหรือบุญใดที่จะทำให้ได้เกิดในยุคพระศรีอารย์ พระองค์ก็ทรงตอบไว้นานาประการ แต่หนึ่งในนั้นคือการได้ฟังมหาชาติจบภายในวันเดียว ในการเทศน์มหาชาติจึงมีการสวดคาถาพัน ซึ่งเป็นมหาชาติแบบย่อ ๆ เพื่อให้พุทธศานิกชนสามารถฟังมหาชาติจบได้ในเวลาอันสั้น เพราะเรื่องมหาชาติที่แต่งเป็น ๑๓ กัณฑ์นั้นยาวมาก
๑.     กัณฑ์ทศพร 19 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ สาธุการ ทศพร เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์ประสาทพรแก่นางผุสดี ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร โดยให้พร 10 ประการ
๒.    กัณฑ์หิมพานต์ 134 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ ตวงพระธาตุ หิมพานต์ เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรบริจาคทานช้างปัจจัยนาค ประชา ชนชาวเมืองสีพีโกรธแค้น จึงขับไล่ให้ไปอยู่เขาวงกต
๓.    กัณฑ์ทานกัณฑ์ 209 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ พญาโศก ทานกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงแจกสัตสดกมหาทาน คือ การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ ก่อนออกจากพระนคร
๔.    กัณฑ์วนปเวศน์ 57 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ พญาเดิน วนปเวศน์ เป็นกัณฑ์ที่เสด็จถึงเขาวงกต ได้พบศาลาอาศรม ซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตให้ พระเวสสันดร พระนางมัทรี ชาลีและกัณหา จึงทรงผนวชเป็นฤาษีพำนักในอาศรมสืบมา
๕.    กัณฑ์ชูชก 79 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ เซ่นเหล้า ชูชก เป็นกัณฑ์ที่ชูชกได้นางอมิตดามาเป็นภรรยา และหมายจะได้โอรสและธิดาพระเวสสันดรมาเป็นทาส
๖.     กัณฑ์จุลพน 75 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ คุกพาทย์ จุลพน เป็นกัณฑ์ที่พรานเจตบุตรหลงกลชูชก และชี้ทางอาศรมจุตดาบส ชูชกได้ชูกลักพริกขิงแก่พรานเจตบุตร อ้างว่าเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสญชัย จึงได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤาษี
๗.    กัณฑ์มหาพน 80 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ เชิดกล้อง มหาพน เป็นกัณฑ์ป่าใหญ่ ชูชกหลอกล่ออจุตฤาษีให้บอกทางสู่อาศรมพระเวสสันดร
๘.    กัณฑ์กุมาร 101 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ โอดเชิดฉิ่ง กัณฑ์กุมาร เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงให้ทานสองโอรสแก่เฒ่าชูชก
๙.     กัณฑ์มัทรี 90 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ ทยอยโอด กัณฑ์มัทรี เป็นกัณฑ์ที่พระนางมัทรีทรงได้ตัดความห่วงหาอาลัยในสายเลือด อนุโมทนาทานโอรสทั้งสองแก่ชูชก
๑๐.  กัณฑ์สักกบรรพ 43 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ กลม สักก บรรพ เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์จำแลงกายเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี แล้วถวายคืนพร้อมถวายพระพร 8 ประการ
๑๑.  กัณฑ์มหาราช 69 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ กราวนอก มหาราช เป็นกัณฑ์ที่เทพเจ้าจำแลงองค์ทำนุบำรุงขวัญสองกุมาร ก่อนเสด็จนิวัตถึงมหานครสีพี
๑๒.กัณฑ์ฉกษัตริย์ 36 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ ตระนอน ฉกษัตริย์ เป็นกัณฑ์ที่ทั้งหกกษัตริย์ถึงวิสัญญีภาพสลบลงเมื่อได้พบหน้ากัน ท้าวสักกะเทวราชได้ทรงบันดาลให้ฝนตกประพรมหกกษัตริย์
๑๓. กัณฑ์นครกัณฑ์ 48 คาถา เพลงประจำกัณฑ์ คือ กลองโยน นครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่หกกษัตริย์นำพยุหโยธาเสด็จนิวัตพระนคร พระเวสสันดรขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา
พุทธประวัติ
คือเรื่องราวของพุทธรูปบางต่าง ตามความเชื่อเรื่องพุทธรูปประจำวัน ซึ่งมีการเกี่ยวพันกันโดยตรงกับพุทธประวัติ และวรรณคดีพุทธประวัติ อย่าง เช่น ชินาลังการมาลีปกรณ์ ปฐมสมโพธิกถา สังคีติยวงศ์ เป็นต้น โดยพุทธรูปประจำวันเกิดที่จัดไว้ให้ทำบุญในงานบุญต่าง  ๆ ที่สำคัญได้แก่
๑.     เกิดวันอาทิตย์ ถวายพระพุทธรูปปางถวายเนตร (หลังตรัสรู้สถานที่เสด็จมาทรงยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นได้นามว่า อนิมิสเจดีย์)
๒.    เกิดวันจันทร์ ถวายพระพุทธรูปปางห้ามญาติ (พุทธเจ้าห้ามพระญาติคือวงศ์ศากยะ และโกลิยวงศ์รบกันแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีในฤดูแล้ง)
๓.    เกิดวันอังคาร ถวายพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ (หรือปางปรินิพพาน)
๔.    เกิดวันพุธ กลางวัน ถวายพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร (ปางเสด็จไปรับบาตรในตอนเช้าเพื่อโปรดสัตว์)
๕.    เกิดวันพุธ กลางคืน ถวายพระพุทธรูปปางป่าเลย์ไลย์ (ปางเสด็จหนีสงฆ์ทะเลาะกันไปอยู่ป่าเลย์ไลย์)
๖.     เกิดวันพฤหัสบดี ถวายพระพุทธรูปปางสมาธิ (เป็นตัวแทนตอนเจริญญาณเพื่อการตรัสรู้)
๗.    เกิดวันศุกร์ ถวายพระพุทธรูปปางรำพึง (ปางคิดถึงบัวสี่เหล่าก่อนประกาศธรรมโปรดสัตว์)
๘.    เกิดวันเสาร์ ถวายพระพุทธรูปปางนาคปรก (เป็นตัวแทนตอนเสวยวิมุติสุขใต้ต้นมุจลินท์)


นิทานพญานาค
นิทานพญานาคเป็นพระโพธิสัตว์เรื่องพระภูริทัตซึ่งเป็นชาดกสำคัญในทศชาติชาดก นิทานพญานาคเป็นผู้สร้างแม่น้ำโขงเช่นพญาสุทโธนาคราชรบกับพญาสุวรรณนาคราช และเรื่องตำนานนางนาคกันยาต่าง ๆ ที่ได้สมสู่ได้กับมนุษย์เช่นพระทองนางนาคของเขมร ที่อาจจะเป็นต้นตำนานจำแม่นาคีของอาเซียน การชักนาคดึกดำบรรพ์ก็เป็นการแสดงกวนน้ำอมฤตของโขนในสมัยอยุธยา สะพานขึ้นบนได้พระเมรุ หรือวัดต่าง ๆ ก็ประดับดวยรูปพญานาค เมื่อมีการนำเรื่องภาพยนตร์เจ้าแม่นาคีมาฉาย ก็ทำให้ที่ด่านเกวียนของโคราชต้องปั้นรูปเจ้าแม่นาคี และพญานาคต่าง ๆ มาเป็นสิ้นค้าเพื่อให้คนทั้งหลายหาซื้อไปบูชาจำนวนมาก เรื่องของพญานาคจึงเป็นนิทานพุทธผสมผีไทย
 นิทานยักษ์หรือผีประจำท้องถิ่น 
วิธีทำขวัญข้าว จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง พบว่า ชาวอำเภอควนขนุนจะทำพิธีขวัญข้าวในช่วงเดือนสี่ของทุกปี การทำพิธีขวัญข้าวของที่นี่มีวิธีคิด มาจากเรื่องพระรถเมรี โดยเริ่มจากในชุมชนจะหาฤกษ์งามยามดีที่เหมาะแก่การทำขวัญข้าว จากนั้นเมื่อถึงวันที่จะทำขวัญข้าว สมัยก่อนชาวบ้านจะนำควายมาฆ่าเพื่อเซ่นสรวงนางยักษ์ สนทรา (แม่ของนางเมรี) แต่ในปัจจุบันด้วยปัจจัยหลายๆ ประการ เช่น ควายมีจำนวนลดลงจึงหา มาเซ่นยากขึ้น คนทำนาน้อยลง จึงเปลี่ยนมาเป็นการซื้อเนื้อควายตามท้องตลาดมาเซ่นไหว้บ้าง หรือนำควายไปมัดไว้ในนา เพื่อให้ปลิงหรือทากมาดูดเลือดควายแทนบ้าง และขณะทำพิธีนางสนทราจะประทับทรงเพื่อรับของเซ่นไหว้จากชาวบ้านด้วย การประทับทรงนางสนทรานี้จะไม่มี ใครเป็นร่างทรงประจำ นางสนทราจะเลือกและประทับทรงเองตามอำเภอใจ นอกจากนี้บ้านสุนทรา ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่ง เป็นพื้นที่ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับนางสนทราจะมีการรำโนราสมโภชนางสนทราในตอนเย็นต่อจาก พิธีทำขวัญข้าวในภาคกลางวันด้วย ใน พ.ศ.๒๕๕๙ ที่ผ่านมาในพิธีทำขวัญข้าวและสมโภช นางสนทรา บ้านสุนทรา ตำบลปันแต จัดขึ้นในวันที่ ๙ เมษายน โดยมีคณะมโนราห์เฉลิมชัย มลวิเชียร เป็นคณะที่รำสมโภช การรำโนราสมโภชนางสนทราจะใช้การรำโนราที่เน้นเรื่องพระรถเมรี เป็นสำคัญ และมีการรำโนราแบบทั่วไปประกอบ
นอกจากนี้ก็มีนิทานเทวดา นิทานเทพฮินดู (แม่ธรณี แม่คงคา พระยม)  ซึ่งยกมาเป็นต้นเรื่องอ้างเหตุประเพณีและพิธีกรรม เช่นการลอยกระทง เซ่นผี บวงสรวงต่าง ๆ

อ้างอิง
กรกฎา บุญวิชัย. ( ๒๕๖๐).  พระรถเมรี: การศึกษาบทบาทหน้าที่ของชาดกท้องถิ่นภาคใต้. การประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง ขับนิทานนางสิบสอง ขานทำนองพระรถเมรี: นิทานมรดกแห่งอุษาคเนย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์. กรุงเทพ ฯ:  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

การสร้างแผนที่ชุมชนกับการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research-PAR)



การวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research-PAR) 
นับเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมและชุมชน
โดยกระบวนการวิจัยก็ต้องดำเนินไปโดยความร่วมมือกับทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบสิ้นกระบวนการ เป็นขั้นตอนดังนี้ 
                1) ขั้นการศึกษาบริบท  (การสร้างแผนที่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การออมเงิน เศรษฐกิจชุมชนโดยการมีส่วนร่วมกับชุมชน)
                2) ขั้นกำหนดปัญหา (การประชุมพูดคุยกับชาวบ้านถึงปัญหา และสิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริง ๆ)
                3) ขั้นการวางแผนปฏิบัติงานวิจัย (ตัวแทนหรือผู้นำชุมชนมีส่วนร่วม เป็นผู้ร่วมทำวิจัย)
                4)  ขั้นการติดตาม ประเมินผลและแก้ไขปรับปรุงขณะร่วมทำการวิจัยกับชาวบ้าน ตัวแทน และผู้นำชุมชน  (ลงพื้นที่ตรวจสอบการวิจัยกับผู้นำชุมชน)
                5)  ขั้นการสรุปผลการวิจัย  (ถอดแบบเรียนร่วมกับชาวบ้าน)


การมีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย
การมีส่วนร่วม (Participation) เป็นวิธีการ (Means) สำคัญที่จัดว่าเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่ง และเป็นสาระสำคัญของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบรวมรูปแบบการวิจัยหลายการวิจัยเข้าด้วยกัน โดยผู้วิจัย กับตัวแทน ผู้นำชุมชน และชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมคือ
- ร่วมศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา (ขั้นการศึกษาบริบท และขั้นการกำหนดปัญหา)
- ร่วมวางแผน (ขั้นการปฏิบัติวางแผนงานวิจัย)
- ร่วมดำเนินการ  (ขั้นการติดตาม ตรวจสอบและแก้ไขปัญหา)
- ร่วมติดตามประเมินผลการดำเนินงานวิจัย (การติดตาม ประเมินผล และแก้ไขปรับปรุง)
- ร่วมรับผลประโยชน์ (ขั้นการสรุปผลการวิจัย  )

ชนิดของแผนที่ชุมชน

- แผนที่ทางประวัติศาสตร์ชุมชน

Refer to: http://dhon63.blogspot.com/2011/09/blog-post_10.html

- แผนที่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

refer to: https://www.chillpainai.com/scoop/1333/


- แผนที่ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

- แผนภาพการออม (รายรับรายจ่าย) ของชุมชน


👮👯👰👱👲👳👶👷👸

กลุ่มเรียน P1



แผนการรับมือความรุนแรงโคราช

แผนการรับมือความรุนแรงโคราช

แผนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโคราช

แผนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโคราช




👮👯👰👱👲👳👶👷👸

กลุ่มเรียน P2


แผนการรับมือโรคระบาดโคราช

แผนการรับมือโรคระบาดโคราช


แผนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติโคราช

แผนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติโคราช









วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

โลกและจักรวาลในไตรภูมิ ๓ (Amazing new Thai cosmology)

กำเนิดมนุษย์กับปอบคู่แรก กับไตรภูมิ

โดยชั้นอรูปพรหมจะมีสุขและอายุยืนกว่าชั้นรูปพรหม แต่พรหมในชั้นนี้ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ได้แต่เสวยผลบุญอยู่เท่านั้น ส่วนชั้นรูปพรหมสามารถบรรลุธรรมได้
โดยชั้นสูงสุดของรูปพรหมคือ ชั้นอกนิฏฐภูมิ หรือชั้นอกนิฏฐพรหม โดยคนไทยโบราณเชื่อว่าเมื่อเกิดไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลกไฟจะไหม้ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นพรหม เหลือแต่ชั้นอกนิฏฐภูมิที่ไฟไหม้ขึ้นไปไม่ถึง พวกเทวดาทั้งหลายก็จะหนีตายขึ้นขออยู่บนชั้นอกนิฏฐพรหมกันหมด จนเบียดกันไม่เหลือช่องว่างใด ๆ เลย จนเมื่อฝนตกหนักมาดับไฟน้ำท่วมโลกจนเหมือนว่าปลาเกือบจะขึ้นไปกินดาวบนฟ้าได้ เมื่อน้ำแห้งลง
พระพรหมชั้นอาภัสสรพรหมต่างก็ได้กลิ่นง้วนดินหอมลอยขึ้นไปจากพื้นโลกถึงชั้นพรหมโลก เมื่อพรหมชั้นอาภัสสรพรหมตนได้อดใจไม่ได้ ก็เหาะมาลองตักกินดูด้วยความอยากรู้ เมื่อได้ลิ้มรสง้วนดินที่มีรสเหมือนเนยข้นก็เกิดจิตมีกิเลส จึงกลายเป็นมนุษย์ปรากฏเพศเป็นหญิงชายตามบุญกรรม เมื่อกลายเป็นคนธรรมดาแล้วก็เหาะกลับไปพรหมโลกไม่ได้ จึงจับคู่เป็นสามีภรรยาอยู่บนโลกมนุษย์กลายเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ต่อมา ซึ่งชาวไทยเรียกบรรพบุรุษคู่แรกของมนุษย์ว่า “ขุนสรวง ขุนหญิงสาง” ซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนของแสงสว่างในอรุณรุ่งของวันใหม่ที่เรียกว่า “ฟ้าสาง” ก็ได้  แต่อย่างไรก็ตามในตำนานอีสานเรียกว่า ปู่สังกะสา กับย่าสังกะสี บางท้องถิ่นในล้านนาเรียกว่า ปู่สางสี กับย่าสางไส้ (ปู่แสงสี ย่าแสงไส้ หรือปู่สองสี ย่าสองไส้ ก็ว่า)  แล้วก็ไปผูกกับเรื่องปู่แสะ กับย่าแสะซึ่งว่าเป็นยักษ์กินคนกับลูก (ที่ต่อมาลูกเป็นฤาษีวาสุเทพแห่งดอยสุเทพและทั้ง 3 เลิกกินคนเพราะพุทธเจ้ามาโปรด) ทำให้ตามความเชื่อเกี่ยวกับตำนานต้นผีไทยจึงกล่าวว่า นอกจากขุนสรวง ขุนหญิงสางจะเป็นพรหมที่ลงมาเป็นมนุษย์คู่แรกแล้ว เมื่อขุนสรวง ขุนหญิงสางแก่เฒ่ามาก ๆ แต่ไม่ยอมตายก็กลายเป็น ผีปอบคู่แรกด้วย
               อนึ่งแม้ว่าชั้นพรหมโลกจะเป็นที่มาเกิดของผู้บรรลุธรรม แต่พระพรหมที่อยู่ในชั้นพรหมโลก ยกเว้นพรหมธาดา เทพผู้สร้างนั้น พรหมอื่น ๆ ก็เกิดมีมิจฉาทิฐิกลายเป็นมารร้ายได้เหมือนกันเรียกว่า “อสูรพรหม” น่าจะเป็นรูปพรหมเท่านั้นเพราะแม้จะปราศจากกามราคะ แต่มีความเห็นผิดและอหังการได้ ซึ่งถ้าอสูรพรหมคิดร้ายทำลายโลกมนุษย์ ดังเช่นอสูรพรหมที่มีตาเป็นไฟหวังจะใช้ตาไฟของตนทำลายล้างโลกพระศิวะก็มีหน้าที่ขึ้นไปปราบและสังหารอสูรพรหมตนนั้น ดังที่ปรากฏในเรื่องนารายณ์สิบปาง



ตำนานต้นผีไทย ที่ได้อิทธิพลจากไตรภูมิ
ล.
ชื่อ/ชั้น
ผู้ปกครอง/กรรม
ล.
ชื่อ/ชั้น
ผู้ปกครอง
16
สรวงสางฟ้า
ขุนสรวง ขุนหญิงสาง
12
อาภัสรพรหม
-
15
แถนเทียนฟ้า
ขุนแถน ขุนหญิงสีทองงาม
9
มหาพรหมาภูมิ
ท้าวพกาพรหม
14
แผนเมืองฟ้า
ขุนแผนดวงฟ้า ขุนหญิงดวงขวัญใจ
8
พรหมปุโรหิตาภูมิ
ท้าวพกาพรหม
13
เมืองแมนฟ้า
ขุนแมนเมืองฟ้า ขุนหญิงสายเฟื่องฟ้า
6
ปรนิมตวสวัสดี
พระสวัตตี และพญามาร
12
ร่วงเมืองฟ้า
ขุนร่วงเมืองฟ้า (พระนารายณ์)
เจ้าแม่ทับทิม (พระศรี)
5
นิมานรดี (ไวกูณฐ์?)
พระสุนิมมิต
11
สันซื่อฟ้า
ขุนสันแสงฟ้า ย่าซื้อฟ้า/นาง
4
ดุสิต
พระสันดุสิต
10
ลายขวัญฟ้า
ขุนลายเรืองฟ้า แม่โพสพ
3
ยามา
สยามเทวาธิราช
9
อินขวัญฟ้า
ขุนอินเขาเขียว ขุนหญิงกวักทองมา
2
ดาวดึงส์
พระอินทร์ อินทราณี
8
ฟ้าสรวง
ขุนตะวันร่วงฟ้า ขุนหญิงเดือนงาม
1.1
นภากาศ
พระอาทิตย์  พระจันทร์
7
ฟ้าหนหาว
สี่ปวงผีหาว เช่น ขุนออก
1.2
จตุมหาราชิกา
ท้าวจตุโลกบาล
6
ใต้ฟ้าสรวง
ขุนขวัญเมืองสูง
1.1
จุตมหาราชิกา
อากาสัฏฐเทวดา
5
จ้าวฟ้าเมือง
ขุนคุ้มเมือง (พระทรงเมือง)
ขุนหญิงร่มสีเมือง (แม่ธรณี แม่กำพู)
1.0
จุตมหาราชิกา
นครปริคาหกเทพ
พระเสื้อเมือง ทรงเมือง
4
จ้าวถิ่นที่
ขุนถิ่นที่ (พระภูมิเจ้าที่)
ขุนหญิงสีพราย (แม่จอมขวัญ)
1.0
จุตมหาราชิกา
ภุมเทวดา
3
จ้าวไม้
รุกขเทพ รุกขมินีเทวี
1.0
จุตมหาราชิกา
รุกขเทวดา
2
จ้าวพราย
จ้าวพราย แม่ทรง (ครูผี/พ่อแก่)
1.0
จุตมหาราชิกา
บูรพาจารย์
1
จ้าวเรือน
ผีพ่อเฒ่าเจ้าเรือน
1.0
จุตมหาราชิกา
เคหเทวดา
0
หล้าแหล่งไทย
กษัตริย์
0
มนุษย์ภูมิ
นฤบดี (ราชา)
1
ผีคน
ศพ คนป่า โจรชั่ว
0.1
มนุษย์ภูมิ (วนา)
วนัปปติ (เจ้าป่า)
2
เบื้อ เยี่ยว ส่ำ
หิมพานต์ เมืองลับแล
1
จตุมหาราชิกา (หิมพานต์)
พนัสบดี (สรภะ)
3
ผีพราย
ภูตผี กระสือ ปอบ ฯลฯ
1
อสุรกายภูมิ
เวปจิตติ อสูร
4
ผีเปรต
เปรตภูมิ
2
เปรตภูมิ
มหิทธิกเปรต 
5
ผีร้าย
วิญญาณอาฆาต, ผีฉมบ
0.2
มนุษย์ภูมิ (ไม่ยอมไป)
ยมทูต
6
ผีบอง
วิญญาณพเนจร  สัมภเวสี (ผู้ไปเกิด)
0.3
มนุษย์ภูมิ
ยมทูต
7
ผีขุนยม
ยมโลก
3
นรกภูมิ
ยมราช
8
ผีทุ
ทุศีล มีบาปน้อย (เศษกรรม)
3.0
คูถนรก 
ยมราช
9
ผีบัน
ปาณาติบาต
3.1
สัญชีวมหานรก
ยมราช
10
ผีบัด
อทินนาทาน
3.2
กาฬสุตตมหานรก
ยมราช
11
ผีบอด
กาเมสุมิจฉาจาร
3.3
สังฆาฏมหานรก
ยมราช
12
ผีใบ้
มุสาวาท
3.4
โรรุวมหานรก
ยมราช
13
ผีบ้า
สุราเมรยมัชชปมาท
3.5
มหาโรรุวมหานรก
ยมราช
14
ผีบ่ง
ทำร้ายผู้มีคุณ
3.8
อเวจีมหานรก
ยมราช
15
ผีบึ้ง
มีมิจฉาทิฏฐิ
4
โลกันตนรก
ยมราช


    น่าแปลกที่มีการอ้างถึงขุนร่วงเมืองฟ้า ว่าเป็นพระนารายณ์ เป็นคู่กับเจ้าแม่ทับทิม (มาจู่ แม่ย่านาง) ซึ่งเป็นเจ้าแม่มาจากจีนซึ่งเป็นเทพต่างถิ่นแปลงมาเป็นผีไทย และการเปรียบเทียบเจ้าแม่ทับทิบกับพระศรีหรือลักษมี ฯ ที่อาจเทียบได้กับแม่ศรีผีไทย  แสดงให้เห็นว่าต้นผีไทยปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากเทพฮินดูและเทพเจ้าจีนตามความเชื่อของตำหนักทรงในปัจจุบันของไทย และอาจจะต้องมองว่าคือวรรณกรรมสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนไปตามกระแสความเชื่อใหม่ ๆ ที่อาจจะต้องการสร้างผีฟ้า หรือเทวดาของตนเองขึ้นมา โดยปฏิเสธเทวดาที่เป็นชื่อบาลีสันสกฤต แต่กลับเอาเจ้าแม่จีนตำหนักทรงมาใช้และอ้างถึงความเชื่อฮินดูให้ต้นผีไทยน่าเชื่อถือขึ้น ผสมกับจินตนาการความเชื่อท้องถิ่นซึ่งได้ถูกประสมกับความเชื่อพราหมณ์และพุทธไปนานแล้ว ทำให้ต้นผีไทยไม่ใช่ผีของเดิมแท้จริง แต่ควรมองว่าตำนานต้นผีไทยคือการผสมผสานความเชื่อพราหมณ์ พุทธ ให้เข้ากับผี เป็นการสืบสร้างใหม่เพื่อหาจุดยืนและการยอมรับผีในความเชื่อปัจจุบันของไทยมากกว่า 
   ความเชื่อต้นผีไทยเหล่านี้เป็นลักษณะร่วมของการผสมผสานทางความเชื่อของเทพต่างถิ่นกับในท้องถิ่นเดิมทั่วโลก ซึ่งก็อาจจะมีการลากเข้าความและการเทียบผิด เช่นพระนารายณ์อยู่ในวิษณุโลก หรือไวกูณฐ์ มีร่างกายเป็นจักรวาลทั้งหมด ไม่ได้อยู่ในสวรรค์ซึ่งอยู่ในร่างกายของพระองค์ หรือรุกขมินีเทวีเรื่องเดิมแท้จากความเชื่อในฮินดู นางเป็นชายาเอกของพระกฤษณะไม่ใช่นางไม้หรือนางอัปสร ในชั้นภุมเทวดา ฯลฯ เป็นต้น
    นอกจากนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าพระอินทร์เทียบได้กับพญาแถน การที่จัดให้ขุนแถนขึ้นไปเป็นชั้นต่อจากอาภัสราภูมิของปู่สังกะสา ย่าสังกะสี (ขุนสรวง ขุนหญิงสาง ที่เทียบกับอาภัสรพรหมที่ลงมากินง้วนดินตามความเชื่อในวรรณกรรมบาลีของแขกอินเดียนั้น) จึงเทียบได้ว่าพญาแถนคือพกาพรหมที่ปรากฎในวรรณกรรมบาลี และพระอีศวรในตำนานเพลงสาธุการของไทย ก็เพราะอ้างว่าพญาแถนเป็นลูกปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ทำให้ต้องมีหรือสร้างขุนอินเขาเขียว พระอินทร์อีกตนหนึ่งในตำนานอื่น ๆ มาอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ก็รับมาจากแขกอินเดียผ่านวรรณกรรมบาลี) ที่เป็นสวรรค์ชั้นสำคัญในความเชื่อเรื่องไตรภูมิเช่นกัน
     อนึ่งการที่สร้างมโนทัศน์ว่า สวรรค์มี 16 ชั้นฟ้า และพิภพเบื้องล่างมี 15 ชั้นดิน + 1 (พื้นดิน/มนุษยภูมิ) ก็เพราะได้อิทธิพลจาก อาภัสราภูมิที่พวกอาภัสรพรหมที่โยงเข้ากับปู่สังกะสา ย่าสังกะสี จนกลายเป็นขุนสรวง ขุนหญิงสาง (ต้นผีไทย) นั้นก็เพราะอาภัสราภูมิเป็นหนึ่งในชั้นรูปพรหมมี 16 ชั้น โดยอาภัสราภูมิเป็นชั้นที่ 6 ส่วนอีกสามชั้นแรกมีพกาพรหมที่อยู่ในชั้นมหาพรหมปกครอง โดยพกาพรหมนี้ปรากฏในตำนานเพลงสาธุการของไทย แล้วถูกเปรียบกับพระอีศวรเทพสูงสุดในศาสนาฮินดู ก็แสดงถึงรอยต่อที่ทับซ้อนกันระหว่างยุคพุทธกาลที่พระอินทร์ พระพรหมเป็นใหญ่ ในขณะที่ยุคปุราณะและศาสนาฮินดูสมัยหลังยกให้เทพองค์อื่น ๆ เป็นอีศวรแทน ทำให้ความสับสนและทับซ้อนนี้ส่งผ่านมาในตำนานต้นผีไทยว่า ขุนแถนหรือพญาแถนอาจจะเทียบได้ทั้งพกาพรหม อีศวร หรือพระอินทร์ ดังนั้นเพื่อจัดระเบียบใหม่ จึงแยกขุนแถนผีไทยยกให้เป็นเทพสูงสุดเทียบได้กับอีศวรในชั้นรองอาภัสราภูมิที่เป็นที่อยู่ของขุนสรวงและขุนหญิงสางที่เป็นเหมือนพ่อแม่ของผีแถนไว้อย่างหนึ่ง และให้มีขุนอินเขาเขียวขึ้นเป็นพระอินทร์ที่รับมาจากแขกอินเดียโดยตรงเลย แล้วก็ยุบสวรรค์ชั้นรูปพรหมลงมาให้เป็น 16 ชั้นเข้ากับ สวรรค์กามภูมิ 6 ชั้น 
    เพราะสวรรค์ก็ไปเป็นเมืองฟ้าในความคิดไทยที่ยังยึดติดในกามคุณต่าง ๆ และวัตถุนิยม จึงไม่ให้ความสำคัญกับอรูปภูมิที่ปราศจากรูปและกามคุณ กลับมีคำดูถูกเป็นสำนวนไทยว่าเป็น "พรหมรูปฟัก" คือ เปรียบเทียบตีความเองว่า คนขี้เกียจว่าไม่ทำอะไรแขนขาจะหายไปเหมือนพรหมชั้นอรูปภูมิ แท้จริงจิตรกรไทยไม่รู้จะวาดรูปออกมาเป็นอย่างไรเพราะท่านไม่มีรูปจึงวาดแต่เป็นรัศมีออกมาเหมือนรูปฟักตามจิตรกรรมฝนังวัด แต่แล้วคนเข้าวัดแต่มีกิเลสหนาก็เอาอรูปพรหมมานินทาได้ แม้ท่านจะไม่มีรูป ไม่ก่อกรรมทำเข็ญให้ใครก็ไม่วายเว้นจากการถูกด่านินทาจากคนพาลใจบาปอยู่ดี การนินทากันมันปากนี่แหละไทยแท้

   หมายเหตุ : อีศวรอาจจะเป็น ศิวะ พระนารายณ์ พระคเณศ ก็ได้ เพราะคำว่าอีศวรแปลว่าผู้เป็นใหญ่ใครนับถือเทพองค์ไหนเป็นใหญ่ก็ว่าเทพของตนเป็นอีศวร
👻👻👻👻👻👻👻


ผีฟ้า พญาแถน


ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี



ปูแสะ ย่าแสะ