วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เทวาสุรนาคแปดหมู่

คัมภีร์ฝ่ายมหายานประเภท ไวปุลยสูตร (พระสูตรอันไพบูลย์)ทั้ง 9[1] ซึ่งนิยมพรรณนาเรื่องราวพิสดารของพระพุทธเจ้า และทวยเทพต่างๆที่มาอ่อนน้อมต่อพระพุทธศาสนา เช่นที่ปรากฏในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร[2] ได้กล่าวถึง อมนุษย์และเทพต่างๆในศาสนาฮินดู ว่ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมและได้ตั้งสัตย์ว่าจะช่วยรักษาพระธรรมและปกป้องผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งหลายครั้งมักจะพูดถึงพร้อมกันเป็นเหมือนสำนวนว่า
"-พหุเทวนาคยกฺษคนฺธวฺราสุรครุฑกินฺนรมโหรคมนุษฺยามนุษฺยาน....ฯ
(เทว,นาค,ยักษ์,คนธรรพ์,อสุร,ครุฑ,กินนร,มโหรค,มนุษย์,อมนุษย์...ฯ)"

ในเวลาต่อมา เทพและอมนุษย์เหล่านี้เมื่อเข้ามาสู่พุทธศาสนา ก็ได้ถูกจัดระบบทางความคิดใหม่โดยพุทธศาสนาว่าเป็นธรรมบาล 8 หมู่ ซึ่งในจีนนิยมเฉพาะเทวบาล ซึ่งถือว่าเป็นธรรมบาลที่สำคัญ ที่สุดในกลุ่มที่เรียกว่า “กาลั้ง” 24[3] ตน นิยมสร้างไว้ตามวัดจีนทั่วไป

เทวาสุรนาคแปดหมู่ (天龍八部เทียนหลงปาปู้) ได้แก่


1.เทพ เป็นผู้มีบุญกุศลไปเกิดบนสวรรค์ หรือเมืองฟ้าที่เป็นสุคติภูมิอีกหกชั้นที่เหนือขึ้นไปจากชั้นมนุษย์โลก เป็นศัตรูกับอสูร แม้ว่าเทวดาจะเป็นฝ่ายผิด ชอบแกล้งมนุษย์ และหลอกลวง ถือตัว แต่ตามตำนานเทวดาให้คุณกับมนุษย์มากกว่าพวกยักษ์ และอสูรที่ทำร้ายมนุษย์ หรือจับมนุษย์กิน (นอกจากพญามาร หรือกามเทพซึ่งเป็นเทพฝ่ายมารในชั้นปรนิมมิตวสวัดดีที่เคยทำตนเป็นศัตรูกับพระพุทธเจ้า)

2.อสูร เป็นอมนุษย์ที่เป็นศัตรูกับพวกเทวดา ซึ่งเดิมอสูรเคยอยู่บนสวรรค์กับพวกเทวดา แต่ดื่มเหล้าเมาพวกเทวดารังเกียจก็จับโยนมาจากสวรรค์แต่ด้วยบุญของตนใต้เขาพระสุเมรุ จึงเกิดพิภพอสูรขึ้น พวกเทวดาต่อมาเป็นนักดื่มเสียเองเรียกตนว่า "สุระ" (ที่มาของคำว่าสุรา) ส่วนพวกที่ถูกโยนมาจากสวรรค์ (Fallen angel) เรียกตนว่า "อสุระ" สัญญากันว่าจะไม่ดื่มอีก (ได้จริงเปล่าก็ไม่รู้) ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนเป็น อสูร 

พญาอสูร และนางอสูรมีรูปงามเหมือนเทวดา แต่เวลาที่จะรบกันพญาอสูรจะแปลงกายให้น่าเกลียดน่ากลัวดังเช่นปีศาจหรือสัตว์ประหลาด จึงทำให้เราเรียกสัตว์ประหลาดว่าอสูรกาย และต่อมาพวกอสูรกายและสัตว์ประหลาดจึงนับเอารวมกันว่าเป็นพวกเดียวกัน แต่นางอินทราณี หรือนางสุชาดา ชายาเอกที่สวยที่สุดและพระอินทร์รักมากสุดก็เป็นธิดาพญาอสูรเวปจิตติศัตรูร้ายของพระอินทร์ 

ในเมืองอสูรมีต้นดอกปาตลี (ดอกแคฝอย ภพอสูร) เป็นไม้ประจำเมือง ทุกฤดูกาลที่ดอกปาตลีบานพวกอสูรจะนึกถึงดอกปาริชาต และความสุขบนสวรรค์ ก็จะยกทัพขึ้นมารบกับพระอินทร์หลายครั้ง และบางครั้งท้าวเวปจิตตีจับหลานของตนเช่น "ชยันตี" บุตรนางสุชาดาได้ก็จะไม่ทำร้ายแต่พาไปกักตัวที่พิภพอสูรเพื่อไม่ให้เป็นอันตราย จนสุดท้ายพระอินทร์ก็ไปหาทางแก้ไข หรือแอบหนีมาได้เอง

3.นาค หรือเงือก เป็นผู้พิทักษ์ศาสนสถาน เทวาลัย สถานที่ศักดิ์สิทธิ และทรัพย์สมบัติพวกแก้ววิเศษ ฯ โดยพวกนาคมีหัวหน้าคือ พญานาคซึ่งมีลูกสาวแปลงเป็นคนได้ที่มักจะเที่ยวบนโลกจนพบรักกับพวกมนุษย์ แต่สุดท้ายก็พบกับความผิดหวังเนื่องจากเดรัจฉานและมนุษย์อยู่ร่วมกันไม่ได้ (ยกเว้นลูกครึ่งเทวดาและนาคอย่างนางอุทัยเทวี) โดยพวกพญานาคเป็นศัตรูกับพญาครุฑ เมื่อพวกพญานาคทั้งหมดในวรรณคดีพุทธศาสนามาจีนก็กลายเป็นมังกรหมดเนื่องจากพญานาคมีฤทธิ์เรียกลมเรียกฝนได้เหมือนมังกร

4.ครุฑ เป็นนกที่ยิ่งใหญ่ มีฤทธิ์มากเคยรบกับพระนารายณ์ สุดท้ายครุฑก็ยอมเป็นพาหนะพระนารายณ์ ครุฑเป็นศัตรูกับนาค และจับนาคกินเป็นอาหาร ยกเว้นพญานาคที่มีฤทธิ์มากกว่าครุฑ นาคที่สามารถเหาะไปได้ในอากาศ และนาคที่เป็นบริวารรับใช้เทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่กว่าพญาครุฑ นาคเหล่านี้ครุฑไม่สามารถจับกินได้

5.ยักษ์ เป็นอมนุษย์พวกหนึ่งเป็นฝ่ายเทพ แต่เป็นญาติกับพวกรากษส มีหัวหน้าคือท้าวกุเวร เทพแห่งทรัพย์ บริวารของท้าวกุเวรคือพวกกุมภัณฑ์ (อัณฑะ เท่าหม้อ) มีหน้าที่เฝ้าสมบัติจึงเนรมิตรกายให้ตัวใหญ่น่ากลัว ค่อยฆ่าคนที่แอบเข้าไปขโมยสมบัติ บางครั้งเมื่อกรรมชั่วตามมาทันก็จะลงไปเป็นนายนิรยบาลลงโทษสัตว์นรก เมื่อกรรมดีให้ผลก็ขึ้นมาเป็นเทพชั้นจตุมหาราชิกาอีก  (ต่างจากเวมานิกเปรต ที่เป็นครึ่งเปรตครึ่งเทวดา ตามวาระการให้ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่ว) คนทั่วไปที่เข้าใจว่ายักษ์ตัวใหญ่ถือคทาหรือกระบองดุร้าย กินคน ก็คงเป็นพวกกุมภัณฑ์ (อัณฑะเท่าหม้อ) นี้

6.คนธรรพ์  เป็นพวกอมนุษย์กึ่งเทพที่ชอบดื่มเหล้าเมาและร้องรำทำเพลง เป็นนักฟ้อนรำในสวรรค์คู่กับนางอัปสร ดังนั้นนางอุรวศี จึงให้ท้าวปุรูรวัสคนรักขอเข้าพวกกับคนธรรพ์จะได้อยู่ร่วมกันตลอดไป เหมือนพวกนางไม้ nymph และเทพป่า satyr ในนิยายกรีก นางอุรวศีคือนางอัปสรผู้เป็นศิษย์เอกของภรตมุนี ผู้แต่งคัมภีร์นาฏยศาสตร์ โดยปกติในสวรรค์นางอัปสรจะเป็นนักแสดงฝ่ายหญิงส่วนนักแสดงฝ่ายชายคือพวกคนธรรพ์หรือฤาษีหนุ่ม (พวกนักสิทธิ์วิทยาธร) ที่เป็นศิษย์ของภรตมุนี 

(ในวรรณคดีสันสกฤตเป็นปกติที่นางอัปสรจะมีบุตรกับพวกฤาษีหนุ่มที่พระอินทร์สั่งให้มาทำลายตบะ เนื่องจากกลัวว่าพวกฤาษีเมื่อมีฤทธิ์มากจะทำให้ตนเดือดร้อน หรือถอดตนจากตำแหน่งพระอินทร์..เนื่องจากพระอินทร์ในวรรณคดีสันสกฤตถือตัว และชอบแกล้งฤาษี .พระอินทร์เป็นตัวแทนกษัตริย์..และเรื่องของกษัตริย์และฤาษีที่ไม่ถูกกันในวรรณคดีสันสกฤตยังมีหลายเรื่องเช่นเรื่อง ปรศุราม เป็นต้น สองวรรณะนี้ต่างแข่งกันเป็นใหญ่ในสังคมอินเดีย)

เดิมมีคำว่า คนธรวศาสตร์แปลว่าความรู้ทางนาฏศิลป์และดนตรี แต่ต่อมาคำว่าคนธรวัน (คนธรรพ์) คนธรวบดี และคนธรวราชัน (ยกเว้นคนธรวราช มันตระ เป็นมนต์หาคู่ครองหรือภรรยาดี) ใช้ยกย่องผู้ที่เล่นดนตรีเป็นเลิศเช่น ฤาษีนารท และปัจจุบันนิยมใช้ยกย่องนักดนตรีที่เล่นดนตรีขั้นเทพในอินเดียใต้อีกด้วย 

แสดงให้เห็นว่าความหมายของคำว่าคนธรรพ์จากนักเต้นสวรรค์ได้เลื่อนมาเป็นนักดนตรีสวรรค์มีร่องรอยว่าเกิดขึ้นในอินเดียมาก่อนไทยเราจะรับมา ดังปรากฏในวรรณคดีบาลี  ที่ปรากฏเรื่องราวของปัญจสิงขรคนธรรพ์ผู้เล่นดนตรีเป็นเลิศ ผู้ที่พระพุทธองค์โปรดเมตตามาก จึงเป็นเหตุผลให้พระอินทร์ใช้ให้มาทูลขอให้ตนสามารถเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในบางครั้ง (เรื่องปัญจสิขคันธรรพเทพบุตร ในสักกปัญหสูตร พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค)


7.กินนร เป็นนักร้องชาวสวรรค์ (แต่คนไทยมักเข้าใจว่ารำเก่งเป็นนักเต้นรำเพราะเรื่องพระสุธน นางมโนราห์รำบูชาไฟก่อนบินหนีไปและมีการแสดงที่เรียกว่ารำมโนราห์) 

ในวรรณคดีบอกว่าคนกินรี (กินนรเพศหญิง) เป็นครึ่งคน ครึ่งนก 

แต่ในวรรณคดีสันสกฤตว่า กินนรเป็นครึ่งคน ครึ่งม้า คือร่างเป็นมนุษย์แต่หัวเป็นม้า 

(ส่วนอมนุษย์ที่หัวเป็นคน แต่ลำตัวเป็นม้าแขกอินเดียเรียกว่า กิมปุรุษะ Centaur) 

อาจารย์สมัยก่อนก็เทียบว่านางแก้วหน้าม้าในวรรณคดีไทยคือนางกินรีในวรรณคดีสันสกฤต 

ซึ่งในวรรณคดีสันสกฤตคำว่ากินนร มาจากคำว่า /กิม/ แปลว่า "อะไร" + /นะระ/ แปลว่า "คน" โดยความหมายตามรากศัพท์ กินนร จึงแปลว่า "คนอะไร" และความหมายที่นำมาใช้จึงหมายความว่าเป็นอมนุษย์ครึ่งคน 

ดั้งนั้นบางครั้งจะเรียกนางอมนุษย์ที่เป็นครึ่งคนครึ่งนกว่า "กินนระ ปักษี" ก็ไม่แปลก 

และหลายครั้งนักวิชาการอินเดียก็บอกว่า ภาพสลักรูปกินนร และกินรีในอินเดีย
ที่จริงเป็นภาพ พญาครุฑ กับครุฑปัตนี (นางเมียครุฑ) 

ส่วนอมุษย์ที่หัวเป็นม้าตัวเป็นคนคือ หยะนนา (นาง โยคินี : หน้าม้า) อัศวะมุขี (นางยักษิณี : หน้าม้า) และ หยะครีวะ หรือหัยครีพ (ภาษาไทย) อวตารพระนารายณ์ที่หัวเป็นม้า ซึ่งถือว่าเป็นราชาแห่งพวกกินนรทั้งหลายด้วย

(ปัจจุบันคำว่า กินนร และ กินรี ที่แขกอินเดียเขียนเป็น กินนรี ก็มี เป็นคำสแลงแปลว่า ชายที่แต่งตัวเป็นหญิง หรือเพศที่สาม)

อนึ่งลักษณะของนางกินรีไทยคล้ายกับคำอธิบายลักษณะของวิทยาธรบางจำพวกในวรรณคดีสันสกฤตที่กล่าวว่า "มีวิทยาธรบางจำพวกสามารถประดิษฐ์ปีกใส่แล้วบินไปได้ในอากาศ บางจำพวกก็อาศัยของวิเศษ และเวทมนต์ต่าง ๆ เป็นต้น" 

(ตำนานกรีกเรื่องปีกขี้ผึ้งของ อิคารัส Icarus ลูกชายของเดดาลัส Dedalus ; ที่คล้ายกับเรื่องลูกพญาครุฑสดายุ และพี่ชายสัมพาที บินเข้าหาดวงอาทิตย์)




8.มโหราค เป็นอมนุษย์มีลำตัวเป็นมนุษย์ ศีรษะเป็นงู บ้างมีลำตัวเป็นงู ศีรษะเป็นมนุษย์ มีฤทธิ์มาก (พญาราหู ???)

เทวาสุรนาคแปดหมู่ในทางธรรมตามที่ปรากฏในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรมีความเปิดกว้างโดยเมตตาของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ว่าเผ่าพันธุ์วรรณะใด ล้วนมีสิทธิที่จะสดับฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า สามารถแสวงหาความเข้าใจ ความหลุดพ้นจากทุกข์ และบรรลุธรรมได้โดยเสมอภาคกัน จากเรื่องที่ธิดา พญาสาครนาคราช ตามคำอ้างของพระโพธิสัตว์มัญชูศรี สามารถมายืนยันการบรรลุธรรมในสตรี  และภูมิเดรัจฉาน โดยการถวายแก้วมณีให้พระพุทธเจ้า (ปริศนาธรรม) จากนั้นก็กลับเพศเป็นมนุษย์บุรุษเพศและตรัสรู้กลายเป็นพระพุทธเจ้าไปประจำในพุทธเกษตรแห่งหนึ่งในทันที (ภายหลังจึ่งอวตารมาเป็นกุมารีสาวน้อยติดตามรับใช้โพธิสัตว์กวนอิม พระอวโลกิเตศวรปางสตรีเพศ)



........
[1] คัมภีร์ ไวปุลยสูตรทั้ง 9 คือ 1.อัษฏสริกาปรัชญาปารมิตาสูตร 2.คัณฑวยูหสูตร 3.ทศภูมิกสูตร 4.สมาธิราชสูตร 5.ลังกาวตารสูตร 6.สัทธรรมปุณฑริกสูตร 7.ตถาคตวยูหสูตร 8.สุวรรณประภาษสูตร และ9.ลลิตวิสตระ
[2]P.L.Vaidya,    Saddharmapundarikasuttra The Mithila institute,post-Graduate studies and research  in Sanskrit Learning,Darbhanga.1967p.142
[2] เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป,   ลัทธิของเพื่อน,คลังวิทยา,กรุงเทพฯ.2514 หน้า 701-705

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น