วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ไทย-ยวน สีคิ้ว



ตอนที่ 1: ที่มาของภาษาและวัฒนธรรมไทย-ยวน สีคิ้ว

 วรเดช  มีแสงรุทรกุล
อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

(เขียนเมื่อ 7 กรกฏาคม 2559)

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

จังหวัดนครราชสีมายังเป็นแหล่งการเรียนของอารยธรรมโบราณที่สำคัญเช่นปราสาทหินพิมาย ซึ่งเชื่อว่าเคยเป็นแห่งอารยธรรมพุทธศาสนาของขอมโบราณ (เติม วิภาคยพจนกิจ. 2546 : 3 -5) นอกจากนี้ด้วยภูมิประเทศของเมืองนครราชสีมาที่เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีทรัพยากรที่มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมามาแต่ครั้งโบราณ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ จังหวัดนครราชสีมามีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์  วัฒนธรรมความเชื่อ และภาษาที่แตกต่างกันออกไป ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น คนไทยเชื้อสายมอญ คนไทยเชื้อสายลาว คนไทยเชื้อสายเขมร และที่สำคัญชาวไท-ยวน (สุดาพร หงส์นคร. 2539 : 3-5 ) ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรม ประเพณี ที่สืบทอดกันมาในตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่ยาวนาน
คำว่ายวน  ถ้าเป็นคำกริยาหมายถึง ยั่ว ล่อ ชวนให้เพลิน ชวนให้ยินดี เช่น ยวนตา ยวนใจ แต่ถ้าเป็นคำนามหมายถึง คำเดิมที่ชาวอินเดียเรียกชนชาติกรีก ซึ่งเพี้ยนมาจากคํา Ionia เป็น ชวนะ หรือ เยวนเยาวนะ โยนก และ โยน ตามลำดับ ต่อมาคนไทยจึงก็นำคำเหล่านี้มาใช้เรียกคนไทล้านนา (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. 2556 : 939)
จิตร ภูมิศักดิ์ (2524 : 199-200 ) อธิบายว่า คำว่า ยวน น่าจะมาจากภาษาพม่าว่า ยูน เมื่อพม่าปกครองล้านนา โดยคำว่า ยวน เป็นคำที่คนไทยภาคกลางเรียกชาวล้านนามาก่อนคำอื่น เช่นที่ปรากฏวรรณกรรมเรื่องลิลิตยวนพ่าย ที่เล่าถึงเรื่องราวในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นที่รบกับอาณาจักรล้านนา ยวนพ่ายจึงหมายถึง ยวนที่เป็นชาวล้านนาแพ้ให้แก่กรุงศรีอยุธยา แต่ต่อมาคำว่า ยวน ไปพ้องเสียงกับคำว่า ญวน ที่หมายถึงพวกเวียดนาม เพื่อไม่ให้สับสนคนล้านนาในสมัยหลังจึงเรียกตนเองว่า คนเมือง แทนคำว่ายวน แม้สมัยโบราณว่าคนไทยภาคกลางจะนิยมเรียกชาวล้านนาว่า ลาวล้านนา ลาวเชียงใหม่ แต่คนยวนไม่เคยเรียกตนเองว่า “ลาว” และแม้กระทั่งพวกชาวยวนที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในทางภาคเหนือของไทย เช่นทางภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ยังนิยมเรียกตนเองว่า “ไท-ยวน” มากกว่า และถือว่าตนเองเป็นชาวไทกลุ่มหนึ่งมาแต่ครั้งโบราณ
ชาวไท-ยวนสีคิ้ว เป็นชาวไท-ยวนโบราณที่ย้ายถิ่นฐานมาจากภาคเหนือของประเทศไทยในอดีต สมัยอาณาจักรโยนกเชียงแสนที่มีกษัตริย์องค์แรกคือ “สิงหวัต” อาณาจักรของพระองค์ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองเชียงแสน ที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายปัจจุบัน ก่อนพระเจ้าเม็งรายได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือร่วมเรียกว่าอาณาจักรล้านนาไทย  ก็เชื่อว่าชาวไท-ยวนเริ่มอพยพย้ายมาตั้งถิ่นในบริเวณต้อนล่างได้แก่พื้นที่อีสานตอนล่างและภาคกลางบ้างแล้ว จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2317 สมัยรัชกาลที่ 1 พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่เป็นเหตุให้ พระองค์จำเป็นต้องทรงรับสั่งให้เผาที่มั่นและแบ่งชาวเชียงแสนออกเป็น 5 กลุ่ม  โดยกลุ่มหนึ่งให้เป็นอยู่ที่ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซึ่งชาวไท-ยวนที่เสาไห้ส่วนหนึ่งต่อมาได้อพยพขึ้นมาที่อยู่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยคำว่าสีคิ้วสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากชื่อผู้ปกครองในสมัยนั้นคือ พระยาสี่เขี้ยว ซึ่งชาวไท-ยวน อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ยังคงตั้งศาลเจ้าบูชากราบไหว้มาจนถึงทุกวันนี้ (จารุวรรณ พรมวัง – ขำเพชร. 2537)
เนื่องจากชาวไท-ยวนส่วนใหญ่มีความสำนึกในชาติพันธ์ุของตนเองอย่างชัดเจน ดังที่ดวงกมล เวชวงค์ (2554 : 131) ได้กล่าวเกี่ยวกับการนำเสนอ อัตลักษณ์ทางด้านต่าง ๆ ร่วมทั้งภาษาและวัฒนธรรมของไท-ยวน ในบริบทของการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยวพอสรุปได้ว่า แม้จะอพยพจากอาณาจักรเชียงแสน มานานถึง 200 ปี ผ่านการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่สำนึกทางชาติพันธุ์ของชาวไท-ยวนยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน โดยชาวไท-ยวนได้แสดงออกสำนึกทางชาติพันธุ์ของตนเองออกมาในชีวิตประจำวัน การร่วมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมของเยาวชนชาวไท-ยวนภายในชุมชน แต่เนื่องจากชาวไท-ยวนต้องมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนเองเพื่อมาเอามาเป็นจุดขายในเศรษฐกิจชุมชนของตนเอง ดังนั้นอัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมของชาวไท-ยวน จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงและประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย หรือดำรงรักษาไว้หรือไม่ขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่ชาวไท-ยวนจะได้รับ
ชาวไท-ยวน อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมามีความโดดเด่นในด้านฝีมือหัตถกรรมโดยเฉพาะการทอผ้า การปักผ้าโบราณ และมีภาษาไท-ยวน เป็นภาษาที่คนเฒ่าคนแก่ใช้พูดจาปราศรัยกันภายในหมู่บ้านทั่วไป เนื่องจากภาษาไท-ยวนเป็นที่นิยมพูด เช่นเดียวกับภาษาภาคกลาง และภาษาอีสาน มีเยาวชนรุ่นหลังที่จะสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมไท-ยวน เพียงเล็กน้อย ทำให้ภาษาไท-ยวนของ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมามีความสุ่มเสี่ยงในการที่จะสูญหายไปในอนาคต



1 ความคิดเห็น: