วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

นิทานทอผ้าตอนที่ ๑ นางหูกฟ้าท้าวแมงคาน

ที่มาของภาพ http://m.naewna.com/view/region/163421


เรื่อง หูกฟ้าแมงคาน เป็นนิทานชาดกพื้นบ้านของชาวไทเขิน(ภาคเหนือ-เชียงตุง) และชาวผู้ไท (กาฬสินธุ์) เป็นนิทานไทยเรื่องหนึ่งที่พูดถึงการทอผ้าของชาวไทยไว้อย่างชัดเจนที่สุด

เรื่องย่อ พระเจ้าธัมมกิติกากษัตริย์แห่งเมืองพาราณสี มีโอรสชื่อแมงคาน ซึ่งเจ้าชายได้อภิเษกกับนางภมมจารี  (นางหูกฟ้า สำนวนผู้ไท) ลูกสาวเศรษฐี คืนหนึ่งนางทอผ้าอยู่คนเดียว พระยาไตรภม (พระอินทร์สำนวนผู้ไท) ซึ่งอยู่ในเมืองแถนคิดว่านางยากจนจึงรับตัวขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ เจ้าแมงคานทราบจึงขี้ม้าติดตามไปกับเพื่อนคือรามเสนาจนถึงสวรรค์ โดยระหว่างนั้นเจ้าแมงคานไปเรียนวิชากับพระฤาษีด้วย

ต่อมาพระยากาบฟ้าได้มาสู่ขอนางภมมจารี เจ้าแมงคานจึงฆ่าพระยากาบฟ้าตาย และมีชัยชนะในพิธีสยมพรที่ให้ยกก้อนหิน และขึ้นสายธนู เพื่อหาคู่ให้นางภมมจารี จากนั้นเจ้าแมงคานกับรามเสนาจึงพานางภมมจารีลงมายังเมืองมนุษย์และกลับไปเมืองพาราณสี โดยได้รับตัวนางปทุมาวดีกับนางสุคันธา พระธิดาของพระยาแถนหวาน (พระอินทร์?) ลงมาด้วย สุดท้ายพระบิดาคือ พระยาธัมมกิติกาก็ได้ยกเมืองพาราณสีให้เจ้าแมงคานปกครอง

วิเคราะห์ได้ว่านิทานเรื่องนี้ได้อิทธิพลจากอนุภาคของเรื่อง

๑. นางปทุมวดี ชายาพระกฤษณะจากอันธประเทศอินเดีย
๒.พิธีสยมพรของพระรามจากเรื่องรามเกียรติ์
๓. การตามนางจากเรื่องพระสุธน มโนห์รา

จุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของนิทานเรื่องนี้

คือการที่ให้พระอินทร์มารับนางภมมจารี (นางหูกฟ้า) ไปเนื่องจากนางทอผ้ากลางคืน

ทำให้กลายเป็นความเชื่อห้ามทอผ้ากลางคืนในชาวไทบางท้องถิ่น

ซึ่งนิทานที่กล่าวถึงเรื่องทอผ้าโดยตรง เช่น
ตำนานเขาวงพระจันทร์ (ลพบุรี) เจ้าแม่ทอหูก และเรื่องตำนานเขานมสาว (คล้ายเรื่องนางยักษ์ตัดนมตนของพม่า)

นิทานไทยที่กล่าวถึงการทอผ้าโดยอ้อม(ที่ไม่โดยตรงเหมือนเรื่องหูกฟ้าแมงคาน) ก็เช่น  สุวรรณนาคราชสร้างเมือง (คล้ายนิทานสร้างนครวัดของเขมร) และเรื่องเล่าชาวลับแล  เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สุกร ไม่ได้แปลว่ามืองาม


สูกร หรือ ศูกร ภาษาสันสกฤต แปลว่า หมู
สูกรี ภาษาสันสกฤตแปลว่า หมูตัวเมีย
สุกร ภาษาสันสกฤต แปลว่า ม้าดี (ยอดอาชา)
สุกรา ภาษาสันสกฤต แปลว่า แม่วัวเชื่อง
......
สุกร ภาษาไทยแปลว่า หมู ถ้าแปลว่า มืองาม (เป็นการเล่นคำ หรือเทียบผิด)

หมายเหตุ กร แปลว่า ส่วนของแขน ตั้งแต่ข้อศอกจดมือ

พาหุ หรือพาหา คือส่วนของแขน ตั้งแต่ข้อศอกจดไหล่

สรมา เทว ศุนี นางหมาเทวดาของพระอินทร์

ในคัมภีร์ฤคเวทกล่าวว่า วันหนึ่งพวกอสูร "ปณิ" ได้ขโมยวัว และปศุสัตว์ทั้งหลายของฤาษีอังคีรสนำไปซ่อนไว้ในหุบเขา ไม่มีใครตามหาได้เจอ

นางสรมาได้สร้างวีรกรรม คือนางได้ติดตามไปจนเจอ และได้บอกให้พระอินทร์ให้มาช่วยปศุสัตว์และพวกวัวเหล่านั้นกลับไป


ภาษาสันสกฤตรักษารากคำดั้งเดิมของตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน ไว้ได้มากกว่าภาษาบาลี

แสดงให้เห็นว่าชาวอารยันซึ่งเป็นนักล่าสัตว์บูชาหมา เช่นเดียวกับพวกชาวไตในสมัยโบราณ

โดยชาวอารยันถือว่า หมาคือเพื่อนของพระอินทร์ วีรบุรุษที่ฆ่ามังกร หรืองูยักษ์ได้ในยุคก่อนพระเวท

แต่ต่อมาสมัยหลังห้าร้อยปีหลังพุทธกาลคนอินเดีย (พวกอารยันที่รับอารยธรรมเพาะปลูกจากดราวิเดียน)

หมาเริ่มหมดบทบาทต่อสังคม คนอินเดียเริ่มดูถูกและเกลียดหมาเหมือนชาวจีน

จากหลักฐานที่ปรากฏในเรื่องมหาภารตะ มหากาพย์ของอินเดีย

ที่ พวกปาฑพไล่ตีลูก ๆ ของ(सरमा)นางสรมา (เทวะ ศุนี) สหายของพระอินทร์

(นอกจากตัวละครในวรรณคดีสันสกฤตซึ่งก็ยังเทียบได้กับตัวละครในตำนานกรีก-โรมัน)

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ความยอกย้อนของการศึกษาไทยในความจริงเชิงปรัชญา

ทางศิลปศาสตร์ ความจริงส่วนใหญ่เป็นทฤษฎี ไม่เป็นกฎเหมือนวิทยาศาสตร์

ยิ่งเรียนมากจะรู้ว่าทุกอย่างเป็นความจริงเชิงปรัชญาที่เถียงกันได้ไม่รู้จบ

คนฉลาดจะไม่ฟันธงกับสิ่งใด แต่เพียงยอมรับความคิดเห็นที่น่าเชื่อถือมากที่สุด

โดยต้องทำใจว่าวันหนึ่งสิ่งที่เรียกว่าถูกนี้ อาจจะกลายเป็นผิดก็ได้เมื่อมีการค้นพบใหม่

เหมือนความเชื่อทางปรัชญาที่ว่าโลกแบน ต่อมาวิทยาศาสตร์ก็ว่าโลกกลม

แต่ปัจจุบันก็ว่ากลม แต่ไม่ได้กลมเหมือนลูกบอล

(โดยที่ความรู้ทางรูปธรรมมักพิสูจน์ให้เห็นได้เชิงประจักษ์ แต่ถ้าถูกทำให้เป็นนามธรรมเป็นเชิงปรัชญาแล้ว
ก็เป็นเรื่องของมโนคติ ของแต่ละบุคคลที่จะถกเถียงกันได้ไม่จบสิ้น
จนเป็นธรรมชาติของการศึกษาในปัจจุบัน

ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เอาภาษาศาสตร์มาทำให้ภาษาไทยง่ายขึ้น แต่เอามาทำให้มันยากขึ้น)

,ในความรู้ระดับอุดมศึกษาควรเข้าใจเรื่องพวกนี้

ส่วนการนำไปสอนเด็กเวลาเป็นครูต้องยึดตามตำราจากกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้ออกสอบ

แม้แต่ความรู้จากราชบัณฑิต ฯ เขาก็ออกตัวเองว่าเป็นแค่ความรู้เสริม ความรู้รอง

........

หมายเหตุ

...โดยมากก็ยอมรับกันแต่พจนานุกรมเท่านั้น

แต่เมื่อมีปัญหาการใช้คำอื่น ๆ แม้บางครั้งจะขัดกับพจนานุกรม แต่ราชบัณฑิตก็ลื่นไหลไปตามกระแสสื่อมวลชน และแก้ให้ถูกเป็นผิดได้เพื่อเอาใจรัฐบาล ตามที่ว่า มันมีหลายทฤษฎี

จากประวัติศาสตร์พจนานุกรม ยาเสพย์ติด พ.ศ. 2525 กลายเป็น ยาเสพติด ในพจนานุกรมสมัยต่อมาและปัจจุบัน

เหตุผลที่แท้จริงเพราะมีหน่วยงานรัฐบาลออกโฆษณามาเป็น "ยาเสพติด"

- แรก ๆ ราชบัณฑิต ฯ ก็บอกว่าควรใช้ ยาเสพย์ติด
- ต่อมาก็ว่าใช้ได้สองอย่าง
- จนปัจจุบันล่าสุดตัดให้ใช้แค่ ยาเสพติด (ถ้าเขียนยาเสพย์ติดผิด)

ขอโทษนะครับเกิดทัน อยู่ในทุก ๆ เหตุการณ์...ไม่ลืม



http://www.royin.go.th/?knowledges=%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ไทย-ยวน สีคิ้ว



ตอนที่ 1: ที่มาของภาษาและวัฒนธรรมไทย-ยวน สีคิ้ว

 วรเดช  มีแสงรุทรกุล
อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

(เขียนเมื่อ 7 กรกฏาคม 2559)

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

จังหวัดนครราชสีมายังเป็นแหล่งการเรียนของอารยธรรมโบราณที่สำคัญเช่นปราสาทหินพิมาย ซึ่งเชื่อว่าเคยเป็นแห่งอารยธรรมพุทธศาสนาของขอมโบราณ (เติม วิภาคยพจนกิจ. 2546 : 3 -5) นอกจากนี้ด้วยภูมิประเทศของเมืองนครราชสีมาที่เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีทรัพยากรที่มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมามาแต่ครั้งโบราณ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ จังหวัดนครราชสีมามีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์  วัฒนธรรมความเชื่อ และภาษาที่แตกต่างกันออกไป ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น คนไทยเชื้อสายมอญ คนไทยเชื้อสายลาว คนไทยเชื้อสายเขมร และที่สำคัญชาวไท-ยวน (สุดาพร หงส์นคร. 2539 : 3-5 ) ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรม ประเพณี ที่สืบทอดกันมาในตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่ยาวนาน
คำว่ายวน  ถ้าเป็นคำกริยาหมายถึง ยั่ว ล่อ ชวนให้เพลิน ชวนให้ยินดี เช่น ยวนตา ยวนใจ แต่ถ้าเป็นคำนามหมายถึง คำเดิมที่ชาวอินเดียเรียกชนชาติกรีก ซึ่งเพี้ยนมาจากคํา Ionia เป็น ชวนะ หรือ เยวนเยาวนะ โยนก และ โยน ตามลำดับ ต่อมาคนไทยจึงก็นำคำเหล่านี้มาใช้เรียกคนไทล้านนา (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. 2556 : 939)
จิตร ภูมิศักดิ์ (2524 : 199-200 ) อธิบายว่า คำว่า ยวน น่าจะมาจากภาษาพม่าว่า ยูน เมื่อพม่าปกครองล้านนา โดยคำว่า ยวน เป็นคำที่คนไทยภาคกลางเรียกชาวล้านนามาก่อนคำอื่น เช่นที่ปรากฏวรรณกรรมเรื่องลิลิตยวนพ่าย ที่เล่าถึงเรื่องราวในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นที่รบกับอาณาจักรล้านนา ยวนพ่ายจึงหมายถึง ยวนที่เป็นชาวล้านนาแพ้ให้แก่กรุงศรีอยุธยา แต่ต่อมาคำว่า ยวน ไปพ้องเสียงกับคำว่า ญวน ที่หมายถึงพวกเวียดนาม เพื่อไม่ให้สับสนคนล้านนาในสมัยหลังจึงเรียกตนเองว่า คนเมือง แทนคำว่ายวน แม้สมัยโบราณว่าคนไทยภาคกลางจะนิยมเรียกชาวล้านนาว่า ลาวล้านนา ลาวเชียงใหม่ แต่คนยวนไม่เคยเรียกตนเองว่า “ลาว” และแม้กระทั่งพวกชาวยวนที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในทางภาคเหนือของไทย เช่นทางภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ยังนิยมเรียกตนเองว่า “ไท-ยวน” มากกว่า และถือว่าตนเองเป็นชาวไทกลุ่มหนึ่งมาแต่ครั้งโบราณ
ชาวไท-ยวนสีคิ้ว เป็นชาวไท-ยวนโบราณที่ย้ายถิ่นฐานมาจากภาคเหนือของประเทศไทยในอดีต สมัยอาณาจักรโยนกเชียงแสนที่มีกษัตริย์องค์แรกคือ “สิงหวัต” อาณาจักรของพระองค์ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองเชียงแสน ที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายปัจจุบัน ก่อนพระเจ้าเม็งรายได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือร่วมเรียกว่าอาณาจักรล้านนาไทย  ก็เชื่อว่าชาวไท-ยวนเริ่มอพยพย้ายมาตั้งถิ่นในบริเวณต้อนล่างได้แก่พื้นที่อีสานตอนล่างและภาคกลางบ้างแล้ว จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2317 สมัยรัชกาลที่ 1 พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่เป็นเหตุให้ พระองค์จำเป็นต้องทรงรับสั่งให้เผาที่มั่นและแบ่งชาวเชียงแสนออกเป็น 5 กลุ่ม  โดยกลุ่มหนึ่งให้เป็นอยู่ที่ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซึ่งชาวไท-ยวนที่เสาไห้ส่วนหนึ่งต่อมาได้อพยพขึ้นมาที่อยู่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยคำว่าสีคิ้วสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากชื่อผู้ปกครองในสมัยนั้นคือ พระยาสี่เขี้ยว ซึ่งชาวไท-ยวน อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ยังคงตั้งศาลเจ้าบูชากราบไหว้มาจนถึงทุกวันนี้ (จารุวรรณ พรมวัง – ขำเพชร. 2537)
เนื่องจากชาวไท-ยวนส่วนใหญ่มีความสำนึกในชาติพันธ์ุของตนเองอย่างชัดเจน ดังที่ดวงกมล เวชวงค์ (2554 : 131) ได้กล่าวเกี่ยวกับการนำเสนอ อัตลักษณ์ทางด้านต่าง ๆ ร่วมทั้งภาษาและวัฒนธรรมของไท-ยวน ในบริบทของการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยวพอสรุปได้ว่า แม้จะอพยพจากอาณาจักรเชียงแสน มานานถึง 200 ปี ผ่านการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่สำนึกทางชาติพันธุ์ของชาวไท-ยวนยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน โดยชาวไท-ยวนได้แสดงออกสำนึกทางชาติพันธุ์ของตนเองออกมาในชีวิตประจำวัน การร่วมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมของเยาวชนชาวไท-ยวนภายในชุมชน แต่เนื่องจากชาวไท-ยวนต้องมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนเองเพื่อมาเอามาเป็นจุดขายในเศรษฐกิจชุมชนของตนเอง ดังนั้นอัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมของชาวไท-ยวน จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงและประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย หรือดำรงรักษาไว้หรือไม่ขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่ชาวไท-ยวนจะได้รับ
ชาวไท-ยวน อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมามีความโดดเด่นในด้านฝีมือหัตถกรรมโดยเฉพาะการทอผ้า การปักผ้าโบราณ และมีภาษาไท-ยวน เป็นภาษาที่คนเฒ่าคนแก่ใช้พูดจาปราศรัยกันภายในหมู่บ้านทั่วไป เนื่องจากภาษาไท-ยวนเป็นที่นิยมพูด เช่นเดียวกับภาษาภาคกลาง และภาษาอีสาน มีเยาวชนรุ่นหลังที่จะสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมไท-ยวน เพียงเล็กน้อย ทำให้ภาษาไท-ยวนของ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมามีความสุ่มเสี่ยงในการที่จะสูญหายไปในอนาคต