ช่วงนี้กระแสหนังอินเดียกำลังมาแรงทำให้ มีการแปลหนังอินเดียซึ่งมาจากค่ายหนังมากมายทั้ง bollywood อินเดียเหนือ (ค่ายหนังใหญ่สุดในอินเดียเหนือ) Tollywood ค่ายหนังอันธประเทศ และชาวเบงกาลี (พวกเบงกอล) Kollywood ค่ายหนังชาวทมิฬอินเดียใต้ ฯลฯ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนดาราแสดงกันเสมอเพียงแต่ละค่ายจะสร้างหนังเป็นภาษาพื้นเมืองของตนเองก่อนเช่น Bollywood ใช้ภาษาฮินดี Tollywood ใช้ภาษาเตลุคุ และเบงกาลี Kollywood ใช้ภาษาทมิฬ แต่เนื่องจากภาษาฮินดีเป็นภาษาที่รัฐบาลกลางอินเดียบังคับใช้เป็นภาษากลางหนังทุกเรื่องจะถูกแปลเป็นภาษาฮินดี หรืออังกฤษจากนั้นจึงส่งไปฉายนอกประเทศ แสดงว่าหนังอินเดียอาจจะถูกแปลมาแล้วสองต่อก่อนจะถูกแปลเป็นภาษาไทย (แปลครั้งที่สาม) แต่ถ้าหลายครั้งไม่มีภาษาอังกฤษให้หนังอินเดียเรื่องนั้นก็จะถูกส่งให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาฮินดีในเมืองไทยแปล ซึ่งเป็นอาชีพที่รายได้ดี (แต่ได้เงินช้ามากตามนิสัยคนไทย) แต่ก็มีนักแปลมักง่ายที่อาจจะไม่มีความรู้ภาษาฮินดีดี หรือตั้งใจสร้างกระแส โดยใช้การลากเข้าความเพื่อสร้างความหมายใหม่ให้กับคำภาษาฮินดีเดิมเพื่อให้คนไทยจำง่ายเข้า จนไม่สนใจว่าความจริงว่าคำภาษาฮินดีส่วนใหญ่ยืมคำมาจากคำบาลีสันสกฤต จึงมีหลายคำที่มีใช้อยู่ในภาษาไทยแล้ว เพียงแต่มีการแผลงอักษรให้ฟังไพเราะในภาษาไทยให้เข้ากับหูคนไทย เช่น /ว/ กลายเป็น /พ/ เสียง /ด/ กลายเป็น /ท/ เสียง /ต/ กลาย /ด/ เสียง /บ/ กลายเป็น /พ/ และเสียง /ป/ กลายเป็น /บ/ ในภาษาไทย ซึ่งเป็นกฏการกลายเสียงในภาษาไทยเมื่อนำภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้ ซึ่งคำเหล่านี้ก็เป็นที่เข้าใจรู้กันทั่วไปในภาษาไทยอยู่แล้วเช่น คำว่า เทว ไทยใช้ เทพ เทวตา-เทวดา บลราม - พลราม (พี่ชายพระกฤษณะ) สีตา/สีไต - สีดา (ชายาพระราม) เป็นต้น กานตา-กานดา แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้แปลภาษาฮินดีแบบลากเข้าความโดยไม่สนไวยากรณ์ ความหมายและที่มาของคำเดิม สนแต่แปลแล้วขายได้เช่น
คำภาษาฮินดีเดิมคือ รูปเขียน จํทฺรกำตา ต้องอ่านว่า จันทฺระกานตา เพรานิคหิตบนอักษรใด ๆ จะต้องกลายเป็นเสียงนาสิกของอักษรตัวที่ตามมา คำว่า จํนทฺร นิคหิตอยู่หน้า "ท" ท เป็นอักษรวรรค ต ได้แก่ ต ถ ท ธ น ตัวอักษร น คือเสียงนาสิกของอักษรวรรค ต จึงอ่านเป็น จันทฺระ ไทยใช้ว่า จันทร์
ส่วนรูปเขียน กำตา ซึ่งกำนี้ไม่ใช่ ก + สระอำ แต่เป็น ก+สระอา+นิคหิต เมื่อมี ต ซึ่งเป็นอักษรวรรค ต ตามหลังมาในอักษรวรรค ต ได้แก่ ต ถ ท ธ น เสียง /น/ เป็นอักษรตัวสุดท้ายที่เป็นเสียงนาสิก ดังนั้นต้องเป็น กานฺตา ไทยใช้ว่า กานดา แปลว่าหญิงที่เป็นที่รัก แต่นักแปลผู้อาจจะมีความรับผิดชอบทางวิชาการไม่มากนักก็ยังแปล จํทฺรกำตา เป็น จันตระการตา ถือว่าเป็นการลากเข้าความเพราะว่า
๑) ถ้า /ด/ กลายเป็น /ท/ พออนุโลม แต่ /ทระ/ ในคำว่าจันทระไม่ควรกลายเป็น /ตระ/
และ ๒) "ร" ในคำ "กานตา" มาจากไหนต้นฉบับภาษาฮินดีไม่มี
...แสดงว่าลากเข้าความกับคำ "ตระการตา" ในภาษาไทย
สงสัยแปลมาจากอังกฤษไม่ปรึกษาอาจารย์สอนฮินดี (แต่ภาษาอังกฤษก็สะกดว่า chandrakanta นะ
จงใจลากเข้าความเห็น ๆ)
กานตา ภาษาฮินดี กานดา (หญิงที่รัก) ภาษาไทย น่าจะใช้ว่า "จันทรกานดา" (พระจันทร์ที่รัก)
เทียบผิด = เพราะเข้าใจที่มาของคำหรือไวยากรณ์ผิดจึงเทียบผิดอย่างไม่รู้ ไม่จงใจ เช่น ภาษาสันสกฤตคำว่าเมีย คือ ภารยา ภาษาบาลีว่า ภริยา แต่เนื่องจากภาษาไทยมักแปลง /อัร/ ในภาษาบาลีสันสกฤตเป็น "รร" (ร หัน) จึงเกิดคำว่า ภรรยา ซึ่งเป็นคำเทียบผิดจากภาษาบาลีสันสกฤต แต่เป็นคำที่ถูกต้องมีใช้ในพจนานุกรมไทย อย่างนี้เรียกว่าเทียบผิดเพราะไม่รู้ (จนกลายเป็นคำที่ถูกต้อง)
ลากเข้าความ = ไม่เข้าใจความหมายหรือที่มาของคำต่างประเทศ มีปัญหาด้านความจำ หรือการออกเสียง แล้วตั้งใจใช้ภาษาของตนที่คุ้นเคยแทนที่อย่างจงใจ เช่น คำว่า government (กัฟ'เวิร์เมินทฺ) คนไทยสมัย ร.๔ ออกเสียงว่า "กัดฟันมัน" หรือ ฟอสฟอรัส (Phosphorus) คนไทยสมัยนั้นออกเสียงว่า "ฝาสุภะเรศ" ถือเป็นการลากเข้าความกับภาษาไทยสำเนียงไทยด้วยความตั้งใจ
ซึ่งการที่คนไทยแปล จันทรกานตา หรือจันทรกานดา อย่างลากเข้าความก็คงเพราะภาษาฮินดียังเป็นภาษาที่ใหม่สำหรับคนไทยเหมือนภาษาอังกฤษที่อาจจะพึ่งเข้ามาหรือเป็นที่นิยมสมัยรัชกาลที่ ๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น