วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แผนที่รามเกียรติ์และมหาภารตะ




 แผนที่รามเกียรติ์และมหาภารตะ  

มหาภารตะในไทยเรื่องที่สำคัญเช่น มหาภารตคำกลอน (เรื่องเต็ม) อนิรุทธคำฉันท์ (เรื่องหลานพระกฤษณะ) กฤษณาสอนน้อง (จริยธรรมของนางเทราปที)  อุสาบารส (เรื่องพระอนิรุทธสำนวนล้านนา) นารายณ์สิบปาง (มีเรื่องพระกฤษณะ) ตำนานพญากงพญาพาล (ตำนานนครปฐมอิทธิพลจากเรื่องพระกฤษณะ) เป็นต้น

ก) แผนที่เมืองในสมัยมหากาพย์อินเดีย


๑.เมืองตักสิลา

ตักษศิลา (สันสกฤต) หรือ ตักสิลา (บาลี) เป็นแหล่งศึกษาวิทยาการในสมัยโบราณ ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองโบราณเหลือแต่ซาก

ในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ไทยพระเอกมักจะไปเรียนจบมาจากเมืองตักสิลาทั้งนั้น แต่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในปากีสถานเมื่อเร็วนี้มีข่าวว่า ถูกกล่าวหาว่าเป็นสถาบันที่ขายปริญญาข้ามชาติ และสำนักงาน กพ. ไทยไม่ยอมรับ

ทำให้นึกตลกว่า พระอภัยมณี พระเอกในวรรณคดีไทย ถูกพ่อไล่ออกจากเมืองเพราะไปเรียนมหาวิทยาลัยเถื่อนนี่เอง 

๒. เมืองขีดขิน (กิษกินธ นคร)
 
นักวิชาการชาวอินเดียส่วนหนึ่งคิดว่าคือเมืองหัมปิ เมืองแห่งพระนรสิงหาวตาร

๓. เมืองหัสตินาปุรี 

เมืองของพวกเการพ ซึ่งเคยปกครองโดยท้าวปาณฑุ บิดาแห่งพวกปาณฑวะสามีทั้งห้าของนางเทราปที (กฤษณา)

๔. เมืองอินทรปัตถ์

เมืองของพวกปาณฑวะสามีทั้งห้าของนางเทราปที (กฤษณา) ที่เชื่อว่าพระอินทร์พ่อของท้าวอรชุน หนึ่งในปาณฑพทั้งห้าลงมาสร้างใหญ่

๕. เมืองมิถิลา

เมืองของท้าวชนกบิดานางสีดา

๖. เมืองอโยธยา

เมืองของท้าวทศรถบิดาของพระราม แห่งราชวงศ์สุริยวงศ์

๗. ป่าทัณฑกะ

ป่า นี้เดิมเป็นอาณาจักรของเจ้าชายทัณฑะ แต่ถูกฤาษีศุกราจารย์ คุรุอสูรสาปให้ไหม้และปกคลุมด้วยขี้เถ้า เนื่องจากเจ้าชายทัณฑะโอรสองค์เล็กของท้าวอิษวากุ ลวนลามลูกสาวของฤาษีศุกราจารย์ 

ต่อมาเป็นสถานที่พระราม รบกับอสูรทูษณ์ และขร พี่ชายของนางสำมนักขา

๘. เมืองราเมศวรัม

เป็น สถานที่พระรามสักการะ พระศิวลึงค์สององค์ องค์หนึ่งเป็นองค์ที่หนุมานเชิญมาจากเขาไกรลาส และอีกองค์หนึ่งปั้นขึ้นจากทรายเอง เนื่องจากหนุมานไปเหาะไปนานรอไม่ได้เลยฤกษ์
 

เมื่อหนุมานกลับมาแล้วจึงพยายามถอนศิวลึงค์องค์เดิมแต่ก็ถอนไม่ขึ้น จึงประดิษฐานศิวลึงค์ทั้งสองไว้ด้วยกัน

เมืองราเศวรัมปัจจุบันเป็นเมืองของชาวประมงในรัฐทมิฬนาฑู แต่อนุภาคเรื่องหนุมานไปนำศิวลึงค์มาให้พระรามบูชาที่เมืองราเมศวรัมนี้ ปรากฏอยู่ในตำนานท้องถิ่นของเมืองราเมศวรัม และรามายณะฉบับภาษาเตลุคุเท่านั้น ไม่ปรากฏในรามายณะฉบับกัมพันของทมิฬ

๙. รามเสตุ (หรือสะพานพระราม)

เชื่อว่าเป็นสะพานที่ธรรมชาติสร้างขึ้น แต่ชาวอินเดียปัจจุบันก็ยังชื่อว่าทหารวานรช่วยกันสร้างให้พระรามดังปรากฏในรามายณะฉบับต่าง ๆ

๑๐. เมืองทวารกา 

สันนิษฐานว่าเป็นเมืองที่มีประตูมากให้พ่อค้าเข้ามาค้าขายเนื่องจากเป็นเมืองชายฝั่งทะเล  

ในตำนานกล่าวว่าแต่เดิมเมืองทวารกาปกครองโดยพระกฤษณะซึ่งเป็นหลานของท้าวกังสะ (พญากง) แห่งมถุรา   

ท้าวกังสะ เป็นกษัตริย์เชื้อสายราชวงศ์ยาทพแห่งจันทรวงศ์ที่โหดร้าย ท้าวกังสะเป็นโอรสของท้าวอุครเสนากับนางปัทมวดี แต่ตำนานเล่าว่าเป็นลูกของยักษ์ที่ปลอมตัวมาเป็นสามีเพื่อสมสู่กับนางปัทมวดี จึงทำให้ท้าวกังสะมีนิสัยโหดร้ายคบหาแต่กับพวกปีศาจ จนวันหนึ่งอากาศวาณี (เสียงจากท้องฟ้า) ประกาศว่ากังสะจะถูกลูกของนางเทวกีน้องสาวฆ่า 

ท้าวกังสะจึงบังคับให้น้องเขยคือวสุเทพส่งลูกที่เกิดกับนางเทวกีให้ตนฆ่าทิ้ง นางโยคมายา (หรือ "โยคนิทรา" ปางหนึ่งของทุรคาที่รับใช้พระนารายณ์) จึงนำลูกของเจ้ากรุงพาลในบาดาลโลกมาใส่ท้องนางเทวกี ให้ท้าวกังสะฆ่า ๖ คน ส่วนคนที่เจ็ดคือท้าวพลราม (พลเทพ) นางโยคมายาเปลี่ยนไปใส่ครรภ์นางโรหิณีชายาคนอีกคนของวสุเทพ (นางเทวกีแท้งลูก?) นางโยคมายาก็เข้าไปเกิดเป็นธิดาปลอมของนางเทวกี (เด็กที่วสุเทพเอามาเปลี่ยนกับพระกฤษณะ) ตอนที่ท้าวกังสะจะฟาดกับหินให้ตาย นางได้ปรากฏร่างเป็นทุรคาเทวีที่ท้าวกังสะนับถือบอกให้รู้ว่าพระกฤษณะจะมาเกิดแล้ว

พระกฤษณะผู้เป็นบุตรนางเทวกี (น้องสาวท้าวกังสะ) กับวสุเทพ คนที่ ๘ ที่วสุเทพได้นำไปซ่อนไว้ที่หมู่บ้านของคนเลี้ยงวัวแถบแม่น้ำยมุนา เมื่อโตขึ้นได้สังหารท้าวกังสะได้ ช่วยนางเทวกี และวสุเทพของจากคุก และได้ออกมาเมืองสร้างเมืองของตนเองคือเมืองทวารกาแห่งนี้ เมืองทวารกาจึงรุ่งเรืองมากเนื่องจากปกครองโดยพระกฤษณะที่เป็นพระนารายณ์ อวตาร

แต่ต่อมาเมืองทวารกาถูกสาปให้ล่มจมทะเลเนื่องจากโอรสของพระกฤษณะกับนางชามพวดี ชื่อ "สามพะ" แกล้งปลอมเป็นหญิงท้องไปล่อหลอกให้พวกฤาษีทายว่าลูกของชายปลอมเป็นหญิงคือ อะไร? พวกฤาษีโกรธจึงสาปให้เจ้าชายน้อยตั้งครรภ์คลอดลูกออกมาเป็นท่อนไม้ให้ใช้ฟาดฟันเชื้อสายของพระกฤษณะให้สิ้น จากนั้นก็ให้เมืองนั้นล่มจมทะเลไป

พวยาทพจึงให้เอาท่อนไม้นั้นไปตำให้แหลกเป็นจุและเผาทิ้งทะเลไป แต่ขี้เถ้าของไม้นั้น พัดกลับมาติดชายฝั่งก่อเกิดเป็นต้นกกชนิดหนึ่งที่แหลมคม เมื่อพระกฤษณะพาพวกราชวงศ์ยาทพมาเที่ยวชายหาดแห่งนั้นในวันหนึ่งพวกกษัตริย์ยาทพดื่มเหล้าเมาและก็ถอนต้นกกเหล่าน้นมาเป็นอาวุธฆ่ากันเอง พระกฤษณะเห็นแล้วก็เศร้าใจจึงหนีไปอยู่ป่าคนเดียว แต่ก็ถูกนายพรานคนหนึ่ง (เป็นพญาลิงพาลีกลับชาติมากิด) ใช้ลูกศรที่ทำจากต้นกกนั้นยิงที่เท้าเพราะคิดว่าเป็นกวางจนสิ้นชีวิต (เพื่อเป็นการใช้กรรมสมัยที่พระกฤษณะเคยฆ่าพาลีในชาติที่เกิดเป็นพระราม)

หลังที่ท้าวอรชุนพระสหายของพระกฤษณะทราบข่าวจึงช่วยราชสกุลฝ่ายสตรีและพระนัดดา (หลาน) ของพระกฤษณะที่รอดชีวิตจากการรบกันด้วยคำสาปนั้นไปอยู่ที่เมืองหัสตินาปุระ และเมืองทวารกาก็ล่มลงไปในทะเลจริง ตามคำสาปของเหล่าฤาษี



 ข) แผนที่แม่น้ำสรัสวดี

๑๑. แม่น้ำสรัสวดี (ที่หายไป)


พระ สรัสวดีเป็นชายาของพระพรหมผู้สร้าง มีความสำคัญในการช่วยพระพรหมสร้างโลก และแต่เดิมเป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่มีความสำคัญของชาวอารยันที่อพยพเข้ามาใน อินเดียตั้งแต่ยุคพระเวท ก่อนที่สภาพ
ภูมิประเทศ จะเปลี่ยนแปลงไปทำให้แม่น้ำสรัสวดีแห้งและหายไป ปัจจุบันพื้นที่ที่แม้น้ำสรัสวดีเคยไหลผ่านส่วนหนึ่งกลายเป็นทะเลทรายกว้าง ใหญ่เรียกว่า "ธาร มรุสถล" หรือทะเลทรายธาร์ในแผนที่อินเดีย




ปัจจุบันพระสรัสวดีไม่ใช่แม่น้ำผู้ให้เกิดเนิดอารยธรรมอารยัน แต่กลายเป็นเทพีแห่งความรู้ วิทยาการต่าง ๆ และการพูด


ค) แผนที่ภูเขาสำคัญในอินเดีย



๑๒. นาควารี (หมู่เกาะนิโคบาร์)

คำว่า นักกาวรัม - ในภาษาทมิฬเป็นชื่อเกาะนิโคบาร์
ที่ชาวศรีลังกาเรียกว่า นัคคะทีปะ (น่าจะมาจากภาษาบาลี) แปลว่าเกาะคนเปลือย

ซึ่งคนเปลือย มีความหมายโดยนัยสองอย่างคือ พวกคนป่า หรือพวกเด็กที่ยังไม่นุ่งผ้า

ทำให้นึกถึงนาคที่กล่าวในไตรภูมิให้น่าสงสัยว่า

๑) พวกนาคในแผ่นดินคือพวกอยู่ดินแดนแถวที่ราบนาคปุร (นาคบุรี) หรือพวกนาคแลนด์ (พวกคนเปลือยเหมือนเด็กในแผ่นดิน)

ส่วน

๒) พวกนาคในทะเลคือพวกนักกาวรัม (พวกคนเปลือยเหมือนเด็กที่อยู่ตามเกาะต่าง ๆ)
ที่คนไทยสมัยก่อนเรียกว่าดินแดน "นาควารี" หรือไม่ ?

........

๑๓. ซันดาร์บานส์ หรือ สุนทรพนา 

เป็นที่ป่ากว้างใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่งในอินเดียบริเวณอ่าวเบงกอล

คำว่า สุนทรพนะ หรือ สุนทรพนา เป็นรูปเทียบตามพัฒนาการอักษรไทยกับเทวนาครี แต่แขกออกเสียงจริงเป็น /ซัน - ดาร์ -บานส์/ และภาษาไทยเขียนตามรูปเสียงไม่เขียนตามรูปเขียนเช่นคำอื่น ๆ โดยทั่วไปที่รับมาจากภาษาบาลีสันสกฤต

คงเนื่องจากเป็นชื่อสถานที่จึงเป็นคำหนึ่งที่ต้องออกเสียงตามเขาจริง ๆ ออกเสียงแบบคำที่เอาเขามาเป็นคำไทยไม่ได้

ง) แผนที่สมัยพุทธกาล


 ๑๔. มหาชนบททั้ง ๑๖ แคว้น

มหาชนบท ทั้ง ๑๖ แคว้นสมัยพุทธกาล ความความสำคัญต่อวรรณกรรมพุทธศาสนา และวรรณกรรมไทยเป็นพิเศษ โดยแผนที่นักวิชาการสร้างขึ้นมักใช้ ลุ่มน้ำและแม่น้ำสายสำคัญต่าง ๆ เป็นหลักเขตแดนทางธรรมชาติให้รู้ว่าแว่นแคว้นเหล่านั้นมีอาณาเขตกว้างใหญ่ แค่ไหน เพราะตามความเป็นจริงแล้วสมัยโบราณก็ไม่มีหลักเขตแดนชัดเจนเหมือนใน ปัจจุบัน 


อาณาจักร หลายแห่งจึงใช้การกล่าวอ้างยึดถือหลักแดนทางธรรมชาติเป็นที่สิ้นสุดเขตแดน ของตนเอง ซึ่งก็อาจจะกล่าวอ้างซ้อนทับกันทำให้เกิดสงครามชิงความเป็นใหญ่ในยุคโบราณ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น