วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560

มะกะระ สังกรานติ วันสงกรานต์เดือนมกราคมของชาวทมิฬ


Happy Pongal day or Makara Sangkranti day

หรือวันสงกรานต์เดือนมกราคมของแขกทมิฬ

เนื่องจากแขกทมิฬ มีวันสงกรานต์สองครั้งคือเดือนมกราคม กับเดือนเมษายนที่จะตรงกับของชาวไทย

๑) เทศกาลสงกรานต์เดือนมกราคมคมหรือโปงคัล เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่มากมีการฉลองกันทั้งเมือง

- วันแรกจะบูชาพระอาทิตย์ที่มีพระคุณให้แสงสว่าง และช่วยให้พืชเจริญเติบโต
- วันที่สองจะบูชามะไฬอัมมัน ซึ่งเป็นเจ้าแม่ฝน และเป็นหนึ่งใน ๗ สาวศรีพี่น้องของนางมีนักษี 
ซึ่งเป็นเทวีตนหนึ่งในกลุ่มสัปตมาตริกาที่เคยรำและรับใช้เทพปศุบดีมีมาแต่อารยธรรมสินธุโบราณ (ประมาณสามพันกว่าปีถึงสี่พันปี)

ซึ่งในเทวีในกลุ่มสาวศรีพี่น้องนางมีนักษี ที่เป็นที่เคารพบูชามาถึงปัจจุบัน ก็เช่น นางมีนักษี นางมาริยัมมัน และนางมะไฬอัมมัน  เป็นต้น

นางเทพท้องถิ่นทั้งหลายในอินเดียใต้เป็นที่นับถือในฐานะของนางภัทรกาลี แปลว่า นางกาลีที่รูปงาม หรือเทียบได้กับการอวตารของนางทุรคาเทวี ในอินเดียใต้

- วันสุดท้ายจะบูชาวัว และสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ที่มีคุณที่ช่วยเหลือชาวนาในการทำนา 
ซึ่งจะเป็นวันเดียวในรอบหนึ่งปีที่ชาวทมิฬจะหุงข้าวใส่ธัญพืชและน้ำตาลปึก (แล้วแต่สูตรอาหาร) ที่เรียกว่า "โปงคัล" ชนิดหวานเลี้ยงวัวและสัตว์เลี้ยงที่ใช้งานหนัก พร้อมดูแลอย่างดี และแต่งตัวสัตว์เลี้ยงอย่างสวยงาม
นำออกมาแห่ หรือไม่ก็ได้ เมื่อเสร็จพิธีก็จะนำสัตว์เลี้ยงไปพัก

จากนั้นก็จะนำโปงคัลหวานที่แบ่งไว้อีกครึ่งหนึ่งมากินและฉลองกันในครอบครัว

ในช่วงเทศกาลทั้งสามวันนี้จะมีกาลแสดงการเต้นรำท้องถิ่น และภารตนาฏยัมให้ดูฟรีตามวัดและสถานที่จัดงานต่าง ๆ บางครั้งข้างถนนจะเห็นคนแสดงเต้นรำพื้นบ้านใส่หน้ากากเป็นเทพฮินดูเต้นรำไปกับขบวนแห่ต่าง ๆ 

(แต่ปี ๖๐ นี้ ชัยลลิตา ท่านมุขมนตรีหญิงของรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลทมิฬนาฑูพึ่งเสียวันที่ ๕ ธ.ค. ๕๙  อาจจะไม่มีการฉลองใหญ่โตนัก ไม่รู้ว่าจะตามจัดตามประเพณีแบบฝรั่งหรือไม่...

แต่ถ้ามีก็ไม่แปลก เพราะประเพณีศพของชาวทมิฬนับว่ารื่นเริงมาก)

๒) เทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน เป็นเทศกาลครอบครัว และการสวดมนตร์ยาว ๆ อยู่บ้านเช้าเย็นของพวกพราหมณ์ ไม่มีการฉลองใหญ่โตนัก

วันนี้ทั้งเมืองจะเงียบมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น