วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560

นางเป๋อแขกกับตำนานของเรณุกาเทวี 18+



เรณุกา หรือ เยลลัมมา เป็นพี่น้องเทวีทั้งเจ็ดของ นางเทพมีนักษี (อวตารของเจ้าแม่อุมาเทวี) ที่นับถือกันทางใต้ ซึ่งอาจจะเป็นที่มาของสัปตมาตฤกา หรือสัปตมาตริกา ซึ่งบางอวตารของเจ้าแม่ทุรคาทั้งเจ็ด ครั้งไปปราบ รักตาสูร ที่ได้พรว่าถ้าเลือดหยดลงพื้นหยดหนึ่งก็จะกลายเป็นอสูรอีกตนมาช่วยรบ


ในตำนานของนารายสิบปางเล่าว่า นางเรณุกาคือธิดากษัตริย์ได้เป็นชายาของฤาษีตนหนึ่ง วันหนึ่งมาตักน้ำที่ท่าเห็นพวกกษัตริย์มาเล่นน้ำและหยอกล้อกันในทางโลกีย์นางก็เลยเกิดความใคร่อยากให้สามีตนทำเช่นนั้นบ้าง แต่เมื่อนางบอกกับสามีฤาษีของนาง พระฤาษีนั้นโกรธสั่งให้ลูกของนาง ฆ่านางเพราะคิดว่านางนอกใจหรือใจแตกเป็นหญิงไม่ดี ลูกของนางคนโต และกลางไม่ฆ่านางเพราะรักนางมาก ฤาษีก็เลยสาปให้เป็นบ้า แต่ลูกคนสุดท้ายคือ ปรศุราม ยอมฆ่านาง และขอพรจากฤาษีว่าให้นางกลับมามีชีวิตอีก และพี่ชายทั้งสองหายเป็นบ้า

แต่ในทางตำนานของทมิฬเล่าว่า เรณุกา (หมายถึง ทราย) นั้นคือภารยาของ ฤาษี ชะมทัคนี มีบุตรกับฤาษีสามคน คนสุดท้ายคือปรศุรามเป็นอวตารของพระวิษณุ นางมีความภักดีต่อสามีมาก ทุกเช้านางจึงไปที่แม่น้ำและด้วยความภักดีต่อสามีของนางทำให้นางสามารถปั้นหม้อน้ำจากทรายได้ และนางก็ใช้หม้อนั้นบรรจุน้ำกลับมาที่อาศรมเสมอ หลังจากใช้เสร็จตอนเย็นหม้อนั้นก็กลับกลายเป็นทรายตามเดิม แต่วันหนึ่งเมื่อนางกำลังปั้นหม้อ  นางเห็นคนธรรพ์ตนหนึ่งเหาะผ่านมานางเผลอมองดูคนธรรพ์นั้นด้วยใจยินดี (ชื่นชมในความหล่อของผู้ไม่ใช่สามีตน) วันนั้นนางก็เลยปั้นหม้อทรายไม่ได้ ไม่ได้น้ำกลับมา 

ฤาษีชะมทัคนีรู้เข้าโกรธมากให้ขับไล่นางไป นางจึงไปบูชาศิวลึงค์อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง เมื่อสัปตฤาษีผ่านมานางก็ถวายข้าวปลาอาหาร ที่เรียกว่าทักษิณาทาน แล้วก็ขอพรให้สามีนางหายโกรธ หลังจากนั้นนางก็กลับไปขอโทษสามีของนาง แต่ ฤาษีชะมทัคนีไม่หายโกรธจึงสั่งให้ปรศุรามฆ่า 

ปรศุรามเคารพในพ่อมากจึงไล่ฆ่านาง ขณะนั้นนางจึงหนีไปด้วยความกลัว ในที่สุดไม่รู้ว่าจะหนีไปไหนจึงจะไปกระโดดน้ำตาย แต่ชาวประมงและภรรยาซึ่งเป็นคนวรรณะต่ำช่วยนางไว้ พอดีปรศุรามตามมาทัน สามีภารยาชาวประมงพยายามห้ามจึงถูกปรศุรามฆ่าตัดหัวทั้งสามคน จากนั้นปรศุรามจึงมาหาพ่อ ฤาษีชะมทัคนี ก็ว่าทีให้ฆ่านางก็เพื่อจะล้างบาปให้นาง ต่อจากนั้นก็ให้ปรศุรามนำน้ำทิพย์ไปพรมศพของนางเรณุกาแล้วนางก็จะคืนชีพเป็นสาวบริสุทธิ์อีกครั้ง 

(บางตำนานว่าพวกพี่ชายของปศุรามไม่ยอมฆ่าแม่จึงถูกสาปให้เป็นบ้า แต่ปศุรามรู้ว่าพ่อตนสามารถชุบคนตายให้คืนชีพได้อยู่แล้วจึงยอมทำ)



ปรศุรามก็เอาน้ำทิพย์ไปพรมศพทั้งสามคนก็พื้นขึ้นมา แต่ว่าปรศุรามต่อหัวผิด สับกันระหว่างนางเรณุกากับ สาวชาวประมงนั้น ดั้งนั้นชาวประมงจึงไม่กล้ารับ ร่างที่มีหัวภารยาตนแต่กายเป็นของภารยาของฤาษี แต่ฤาษีชะมทัคนีรับนางนั้นเป็นภารยาตน ส่วนร่างที่มีหัวของนางเรณุกาแต่กายเป็นของ หญิงวรรณะต่ำนั้นถูกสาปให้เที่ยวสมสู่กับชายทั้งโลก แต่คำสาปนั้นไม่มีผลกับเรณุกาซึ่งต่อมากลายเป็น เยลลัมมาเพราะนางทำการบูชาพระศิวะจึงได้พ้นจากบาปและกลายเป็นเทวีอันศักดิ์สิทธิ์ 

และบางก็ว่าแท้จริงนางเรณุกาคืออวตารของปราศักติ หรืออุมาเทวี ครั้งหนึ่งฤาษีนารทเถียงกันกับฤาษีตนเหนึ่งว่าระหว่างปราศักติกับปุรุษะ คือพระศิวะ ใครจะยิ่งใหญ่กว่ากัน ฤาษีตนนั้นก็เลยเอานกตัวหนึ่งมาและเอาวิญญาณออกไป นกตนนั้นก็ตาย และก็ว่าถ้าร่างไม่มีวิญญาณคืออาตมาก็ต้องตาย ฉะนั้น ปุรุษะจึงยิ่งใหญ่กว่า ปราศักติ ที่เป็นเพียงกายกิริยา นางศักติทั้งหลายรู้เข้าก็โกรธ 

- พระสรัสดีก็เลยเรียกเอาการพูดได้คือมาจากฤาษีตนนั้น ทำให้ฤาษีสวดมนต์ไม่ได้ 

- พระลักษมี ก็เลยเรียกเอามงคลและพลังในการใช้แขนขาในการทำงานเพื่อให้ได้ทรัพย์กลับคือมาจากฤาษีตนนั้นทำให้ฤาษีตนนั้นเป็นอัมพาต 

และ

- พระอุมาเทวี ซึ่งเป็นตัวแทนของปราศักติจึงเรียกพลังในการทำงานของหัวใจ คือมาจากฤาษีตนนั้น ทำให้ฤาษีตนนั้นตาย 

เมื่อฤาษีตนนั้นตายร่างได้ล้มไปถูกหมอน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในยัญพิธีของตนหกลงไปในไฟที่ใช้ในยัญพิธีนั้นแล้วก็กลายเป็นอสูร และอสูรนั้นก็เหาะไปสวรรค์เพื่อรบกับเหล่าศักติ ในตอนนั้น นางศักติทั้งหลายเช่น ลักษมี และสรัสวดีกลัวมาก แต่นางอุมาเทวี ไม่เกรงกลัวและกลับร่างเป็นปราศักติ (ทุรคาเทวี) และกลืนอสูรนั้นไปทำให้อสูรนั้นตาย แต่แล้วร่างของนางก็กลับกลายเป็นสีดำดังหมึกเพราะบาปที่นางฆ่าพราหมณ์ พระศิวะก็เลยแนะให้นางไปเกิดใหม่พร้อมกลับฤาษีนั้น คือ ฤาษีนั้นกลับมาเกิดเป็น ฤาษีชะมทัคนี ส่วนนางกลับมาเกิดเป็นเรณุกา เมื่อใดที่นางต้องตายเพราะฤาษีชะมทัคนีแล้วถูกฤาษีชะมทัคนีชุบชีวิตขึ้นใหม่ แต่แล้วก็ขับไล่นางไปอีก นางก็จะพ้นสาป 

ดังนั้นเมื่อฤาษีชะมทัคนี สาปให้นางต้องสมสู่กับชายทั้งโลกนั้น เป็นการแสดงว่าฤาษีชะมทัคนี ทอดทิ้งนางแล้ว  และว่าไปแล้วหญิงที่สามารถสมสู่กับชายทั้งโลกแล้วกลับกลายเป็นสาวงามที่บริสุทธิ์อยู่เสมอนั้น เป็นธรรมชาติของนางอัปสรทั้งหลายนั้นเอง เมื่อนางพ้นสาป นางจึงไปบูชาพระศิวะ บำเพ็ญสมาธิอยู่เมื่อพระศิวะโปรดแล้ว พระศิวะก็มาประทานพรให้นางแบ่งภาคเป็นเทวี "เยลลัมมา" ให้ชาวโลกบูชา 

ส่วนภาคปราศักติ หรืออุมาเทวีนั้นก็แบ่งออกมาจากนางกลับไกรลาสไปกลับพระศิวะ จะจริงหรือเป็นแค่ข้ออ้างก็ไม่ทราบแต่ด้วยคำสาปของชะมทัคนีที่ยังเหลืออยู่นั้นได้ถูกตกทอดไปสู่สาวกของนาง เยลลัมมา หรือเรณุกาเทวี ที่ต่อมามีหน้าที่ทำพิธีตันตระ คือการสมสู่บูชาเจ้าแม่ โดยหน้าที่นี้กลายเป็นของ เทวะทาสี และรวมถึง อระวะนิ(สาวประเภทสอง) ในบางท้องถิ่นของรัฐกรรณาฏกะ และอินเดียใต้ถิ่นอื่น ๆ

แต่บางตำนานกล่าวว่าหญิงที่มาสับร่างกับนางเรณุกาคือคนรับใช้ของนางที่ชื่อ เยลลัมมา ซึ่งต่อมาเมื่อสับร่างแล้ว ปรศุรามไม่ได้ต่อหัวให้ เหลือแต่ร่างของเยลลัมมาไม่มีหัว นางเรณุกาก็เลยเอาดอกบัวไปใส่ไว้ ร่างของเยลลัมมาก็เลยกลายเป็น ลัชชะเคารี เทวี ที่มีศีรษะเป็นดอกบัว มือถือดอกบัวทั้งสองข้าง บางก็ว่าลัชชะเคารีนี้ก็คือรูปเคารพของนางอทิติมารดาแห่งปวงเทพในสมัยโบราณ ที่ทำเป็นรูปหญิงเปลือยท่อนลำตัว คล้ายกับนางเป๋อของไทย แต่มีศีรษะเป็นดอกบัว ซึ่งอาจจะเป็นลัทธิบูชาเพศแม่ที่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นโยนีคู่กับลัทธิบูชาศิวลึงค์ ครับ

ฉะนั้น รูปเคารพของนางเรณุกาหรือเยลลัมมา มีแต่หัว แต่ของลัชชะ เคารี หรือ นั้นมีแต่ลำตัว แต่บางคนก็ว่า ที่ถูกรูปเคารพของนางเรณุกา คือรูปที่มีแต่หัว แต่ของเยลลัมมาหรือลัชชะเคารีนั้นมีแต่ตัวก็มี แล้วแต่จะเชื่อกันไป โดยรูปเคารพของนางเรณุกา และเยลลัมมานั้นถือว่าเป็นเทวีของคนวรรณต่ำในอินเดีย ส่วนลัชชะเคารีนั้นเชื่อว่าน่าจะมีความเชื่อคล้ายกับไทย คือให้เกิดเสน่ห์และโชคลาภ เช่นเดียวกับนางเป๋อ นางแอน นางพิมพ์ ที่ทำไว้คู่กับปลัดขิกเช่นเดียวกับของไทยครับ 




อนึ่งปัจจุบันถ้าไปเที่ยวอินเดียใต้เห็นเศียรเทพชายก็จะเป็นเทพอรวาน ถ้าเป็นเศียรเทวีก็จะเป็นเยลลัมมาหรือนางศักติต่าง ๆ ที่เป็นเทพท้องถิ่นของอินเดียใต้ที่ถูกนำไปรวมว่าเป็นอวตารของปราศักติหรือทุรคาเทวี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น